ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้ราคาน้ำมันมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามไป อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน รัฐบาลได้มีการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลอย่างต่อเนื่องนานมากกว่า 1 ปี ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท
รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี” จึงตัดสินใจไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล หลังสิ้นสุดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา และเลือกใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงาน รับหน้าที่ดูแลเรื่องราคาน้ำมันแทน ทำให้สถานะกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงล่าสุด ณ 12 พฤษภาคม 2567 ติดลบถึง 110,296 ล้านบาท จากการเข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมัน 62,719 ล้านบาทและอุดหนุนราคาก๊าซ LPG อีก 47,577 ล้านบาท
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจึงได้เสนอแนวคิดให้อำนาจกองทุนน้ำมันฅตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 ที่ให้อำนาจกองทุนน้ำมันดูแลหรือตรึงราคาน้ำมันได้ 2 วิธี หรือ 2 ขา คือการใช้เงินในกองทุนน้ำมันฯ และอีกส่วนหนึ่งคือการให้อำนาจในการกำหนดเพดานภาษี แต่หลังปี 2562 ได้แยกอำนาจการใช้เงินกองทุนน้ำมันกับการจัดเก็บภาษีออกจากกัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กองทุนน้ำมันฯ ไม่สามารถที่จะดำเนินการจัดเก็บภาษีได้ เพราะจะขัดกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้หน่วยงานจัดเก็บภาษีจะต้องเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น ส่วนราชการที่ไม่ได้สังกัดในกรมจัดเก็บภาษี ห้ามดำเนินการจัดเก็บภาษี
สาเหตุที่กำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ ทำหน้าที่เป็นขาเดียว เพราะว่าปี 2561 มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) วินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดให้การจัดเก็บภาษี ให้อยู่ภายใต้กฎหมายภาษีเท่านั้น ส่วนจะสามารถแก้พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อให้กองทุนน้ำมันกลับมาจัดเก็บภาษีได้หรือไม่ ก็คงไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐออกมาแล้ว ฉะนั้นแนวทางของกระทรวงพลังงานจึงจะไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่มีแนวคิด
“รมว.พลังงานมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ เพราะเป็นเลขากองทุนฯ และกองทุนมีข้อจำกัดด้วย โดยมองว่าถ้ากองทุนเป็นหนี้เยอะๆ ควรเอาภาษีเข้ามาช่วย ซึ่งกระทรวงการคลังมองว่า การใช้ภาษีนั้น ถือว่าใช้เม็ดเงินมหาศาล ขณะที่ปีนี้ ก็เป็นปีที่มีความท้าทายในการจัดเก็บรายได้ ฉะนั้น มาตรการภาษีจึงไม่ตอบโจทย์”
อย่างไรก็ตาม คาดว่า กระทรวงพลังงานคงไปค้นประวัติศาสตร์เก่าๆ แล้วพบว่า เมื่อปี 2547 เป็นระเบียบสำนักนายกกองทุน ที่ให้อำนาจสามารถดูแลหรือตรึงราคาน้ำมันได้ 2 ขา คือ จะใช้เงินกองทุนก็ได้ หรือจะใช้การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต แต่ปัจจุบันสามารถกำหนดได้เพียงขาเดียว คือ การใช้เงินกองทุนเท่านั้น
ขณะที่ผลการจัดเก็บรายได้ภาษีน้ำมันของกรมสรรพสามิต ในปีงบประมาณ 67 ตั้งแต่ตุลาคม 2566- มีนาคม 2567 จัดเก็บรายได้แล้ว 96,558 ล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่าประมาณการเอกสารงบประมาณ ที่กำหนดไว้ 113,289 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากกรมสรรพสามิตได้ลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยพยุงค่าครองชีพประชาชน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังไม่ได้ต่ออายุการลดภาษีดังกล่าว หลังจากนโยบายการลดภาษีน้ำมันดีเซลสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา คาดว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้จะทำให้ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ภาษีน้ำมันดีขึ้น
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงกรณีข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน ว่า กระทรวงพลังงานจะต้องมาคุยกับกระทรวงการคลัง ซึ่งขณะนี้รับทราบในแนวคิดของกระทรวงพลังงานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังพร้อมที่จะพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน
“ผมได้หารือร่วมกันกับกรมสรรพามิตแล้ว ถึงแนวทางการบริการจัดการภาษีน้ำมัน โดยมีแผนที่จะปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในส่วนของพลังงาน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะเป็นการสร้างความเป็นมิตรให้กับสิ่งแวดล้อมด้วย” นายจุลพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้เบื้องต้น จะปรับโครงสร้างภาษีไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้ แต่ในระยะยาวจะทำให้ประเทศไทยมีเกณฑ์มาตรฐานในเรื่องราคาคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะแบ่งเป็นระยะสั้น และระยะยาว โดยในระยะสั้นจะไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค ส่วนระยะยาวจะสามารถใช้กลไกนี้ เพื่อจูงใจให้เกิดการบริโภคส่วนที่เป็นกรีน การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว
การจัดเก็บภาษีน้ำมันของกรมสรรพสามิตลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังมีการลดภาษีน้ำมันดีเซล โดย
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,993 วันที่ 19 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2567