เปิดโครงสร้าง "ราคาน้ำมัน" ในประเทศไทยทุก 1 ลิตร แยกตามส่วนประกอบต้นทุน

13 พ.ค. 2567 | 02:33 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2567 | 02:33 น.

เปิดโครงสร้าง "ราคาน้ำมัน" ในประเทศไทยทุก 1 ลิตร แยกตามส่วนประกอบต้นทุน เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ให้แล้ว หลังพีระพันธุ์ สารีรัฐวิภาค เตรียมดึงอำนาจภาษีคืนจากกระทรวงการคลัง

โครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยประกอบด้วยอะไรบ้าง กำลังเป็นคำถามที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่นายพีระพันธุ์ สารีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศว่า จะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อนำอำนาจในการเก็บเพดานภาษีมาอยู่ที่กระทรวงพลังงาน 

โดยนายพีระพันธุ์ ระบุว่า การออกกฎหมายเมื่อปี 2562 ไปตัดอำนาจกำหนดเพดานภาษีของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ออกเหลือแต่การเงินอย่างเดียว ดังนั้นตัวเลขของกองทุนน้ำมันฯ ที่เป็นหนี้จำนวนมากหรือติดลบตั้งแต่ปี 2562

จากเดิมที่ก่อนปี 2562 ใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 มาโดยตลอด ซึ่งในคำสั่งนี้ให้อำนาจกองทุนน้ำมันฯ ดูแลตรึงราคาหรือรักษาระดับราคาน้ำมัน คือทำได้ 2 ขา 
 
ขาหนึ่งคือ ใช้เงินในกองทุนน้ำมันฯ ส่วนอีกขาหนึ่งให้อำนาจในการกำหนดกำหนดเพดานภาษี ซึ่งกองทุนน้ำมันฯ มีอำนาจกำหนดเพดานภาษี
 

แต่ไม่มีอำนาจในการเก็บภาษี ดังนั้นก็สามารถใช้ 2 ขานี้ในการตรึงราคาหรือช่วยดูแลประชาชนได้นอกจากใช้เงินอย่างเดียว โดยใช้เพดานภาษีมาเป็นตัวควบคุมได้ด้วย 

เมื่อกระทรวงพลังงานกำหนดเพดานภาษี แต่คนเก็บคือกระทรวงการคลัง 

เปิดโครงสร้าง "ราคาน้ำมัน" ในประเทศไทยทุก 1 ลิตร แยกตามส่วนประกอบต้นทุน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทย พบว่า 

จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน พบว่า ในน้ำมันทุก 1 ลิตรนั้น จะประกอบด้วย 

ต้นทุนเนื้อน้ำมัน ( 40 –60%) คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย
 
ภาษีต่างๆ ( 30 –40%) ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น โดยภาษีที่จัดเก็บ ได้แก่
 

  • ภาษีสรรพสามิต : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ 
  • ภาษีเทศบาล : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม : จัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด

กองทุนต่างๆ (5 –20%) เช่น
 
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน

ค่าการตลาด (10 –18%) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ  ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน

เปิดโครงสร้าง "ราคาน้ำมัน" ในประเทศไทยทุก 1 ลิตร แยกตามส่วนประกอบต้นทุน
 
ส่วนประกอบดังกล่าวทั้งหมดเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการปรับขึ้นและลงราคาน้ำมันภายในประเทศ  

สำหรับสถานะสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2567) ติดลบอยู่ที่กว่า 109,156 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • บัญชีน้ำมันติดลบ 61,640 ล้านบาท
  • บัญชี LPG ติดลบ 47,547 ล้านบาท

ด้านราคาน้ำมันขายปลีกล่าสุดทุกชนิดน้ำมัน ได้แก่

กลุ่มน้ำมันเบนซิน

  • เบนซิน ออกเทน 95 ลิตรละ 46.84 บาท
  • ซุบเปอร์เพาเวอร์ แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 47.14 บาท (โออาร์)
  • แก๊สโซฮอล์ 97  ลิตรละ 49.84 บาท (บางจาก)
  • แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 38.95 บาท
  • แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 38.38 บาท
  • แก๊สโซฮอล์ E20 ลิตรละ 36.84 บาท
  • แก๊สโซฮอล์ E85 ลิตรละ 36.59 บาท 

เปิดโครงสร้าง "ราคาน้ำมัน" ในประเทศไทยทุก 1 ลิตร แยกตามส่วนประกอบต้นทุน

กลุ่มน้ำมันดีเซล

  • ซุปเปอร์พาวเวอร์ดีเซล B7 ลิตรละ 42.94 บาท (โออาร์)
  • ดีเซล B7 ลิตรละ 31.44 บาท (โออาร์)
  • ดีเซล ลิตรละ 31.44 บาท (โออาร์)
  • ไฮพรีเมี่ยมดีเซลS ลิตรละ 45.64 บาท (บางจาก)
  • ไฮดีเซล S B7  ลิตรละ 31.44 บาท (บางจาก)
  • ไฮดีเซล S B20 ลิตรละ 31.44 บาท (บางจาก)