"ส.อ.ท." จี้ "ครม.เศรษฐกิจ" เร่งลดต้นทุน เพิ่มรายได้

26 พ.ค. 2567 | 03:38 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2567 | 03:39 น.

"ส.อ.ท." เรียกร้อง "ครม.เศรษฐกิจ" ทำตามที่ขอ รุกออกมาตรการ-สร้างความเชื่อมั่น หลังที่ผ่านมาทำได้แค่ลดดอกเบี้ย 0.25% ที่เป็นรูปธรรม ส่วนค่าแรงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับต้นพลังงานทั้งน้ำมัน และค่าไฟ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) วันจันทร์ที่ 27 พ.ค. 67 เพื่อหามาตรการ หรือแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีไทยโตต่ำสุดในอาเซียนว่า  สำหรับภาคเอกชนคงไม่มีข้อเสนอ หรือความต้องการเพิ่มเติมไปยังรัฐบาล

เพียงแต่ขอให้รัฐบาลดำเนินการในสิ่งที่เคยเรียกร้องไปก่อนหน้านี้ ทั้งประเด็นเรื่องการลดค่าครองชีพ หรือค่าใช้จ่าย การลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร 

ทั้งนี้ เท่าที่เห็นเวลานี้มีเพียงเรื่องเดียวที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม คือการลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือนให้กับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ของสถาบันการเงิน
 

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ค่าไฟ ค่าแรง หรือภาคพลังงานยังมีราคาที่สูง โดยเรื่องค่าแรงก็มีแนวโน้มว่าวันที่ 1 ต.ค. 67 หากเป็นไปตามที่ภาครัฐระบุไว้ก็จะมีแต่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ค่าไฟที่เรียกร้องมานานก็ยังไม่สามารถทำได้ 

"ส.อ.ท." เรียกร้อง "ครม.เศรษฐกิจ" ทำตามที่ขอ รุกออกมาตรการ-สร้างเชื่อมั่น

ส่วนราคาน้ำมันดีเซลเวลานี้ที่เคยควบคุมหรือตรึงราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ก็ถูกปล่อยให้ขยับเกินราคาดังกล่าวได้ ประเด็นเกล่านี้ถือเป็นการเพิ่มต้นทุนทั้งหมด

"เวลานี้คงไม่มีสิ่งใดจะขอเพิ่มเติม เพียงแต่ขอให้ทำในสิ่งที่ภาครัฐเคยประกาศไว้ว่าจะดำเนินการ เช่น เรื่องของต้นทุน และการกระตุ้นสร้างรายได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่เห็นความชัดเจน รัฐบาลคงต้องรีบเร่ง"
 

นายเกรียงไกร กล่าวต่อไปอีกว่า เหตุผลของการเรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจด่วนมาจากการที่สภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/67 เหลือ 1.5% ซึ่งต่ำที่สุดประเทศหยนึ่งในภูมิภาค นายกคงต้องรีบเร่งหารือกับทีมเศรษฐกิจ  เพื่อหามาตรการในการแก้ไข 

โดยเวลานี้ปัญหาที่ยังค้างอยู่มีมากมาย ทั้งหนี้ครัวเรือน เอสเอ็มอีที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ สภาพคล่อง การจะกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องมีการดำเนินการอย่างไร ก่อนที่จะมีดิจิทัลวอลเล็ตในไตรมาส 4/67 ซึ่งยังต้องรออีกนาน

ด้านการเบิกจ่ายภาครัฐ เมื่องบมาแล้วจะเร่งในการจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายอย่างไร คงต้องเป็นเรื่องที่จะต้องหารือ และหามาตรการทางเศรษฐกิจออกมาประครองจนกว่าจะมีแคมเปญใหญ่

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังมีตัวแปรเล็กน้อยที่สำคัญ คือกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำฟ้องจาก 40 สว. วิจฉัยสถานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เรียกว่าเป็นการซ้ำเติมความรู้สึก หรือความเชื่อมั่นที่ไม่ดีเพิ่มมากขึ้นควบคู่ไปกับภาวะเศรฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีเท่าใดนัก เพราะฉะนั้นจึงต้องหามาตรการช่วยสร้างความเชื่อมั่น เพื่อมาชดเชยกับสิ่งที่ขึ้นซึ่งก่อให้เกิดความกังวล 

"นักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่เตรียมตัวจะลงทุนก็อาจจะเกิดการชะงักงัน เพื่อรอดูสถานการณ์ให้นิ่งเสียก่อน การสร้างความมั่นใจจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องหามาตรการมาช่วยเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ"