thansettakij
สศช. เตือนตั้งงบเพิ่มเติมปี 2567 สุ่มเสี่ยง บี้เช็คกฎหมาย 3 มาตรา

สศช. เตือนตั้งงบเพิ่มเติมปี 2567 สุ่มเสี่ยง บี้เช็คกฎหมาย 3 มาตรา

26 พ.ค. 2567 | 07:17 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2567 | 07:21 น.

สศช. เตือนตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 ต้องเช็คกฎหมายสำคัญ ทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ รวม 3 มาตรา ชี้ฐานะการคลังสุ่มเสี่ยง

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณ เสนอ เพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามนโยบายรัฐบาลนั้น

ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ทำหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 1113/3026 เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักงบประมาณ โดยระบุรายละเอียดดังนี้

สศช. พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567 มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะถูกเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ในขณะที่กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ยังไม่สิ้นสุดลง และแรงกดดันทางการคลังยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพประกอบข่าว การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทำเงินดิจิทัลวอลเล็ต ภาพประกอบข่าว การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทำเงินดิจิทัลวอลเล็ต

สศช. จึงมีข้อสังเกตว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมภายใต้แนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอนั้น ควรให้ความสำคัญกับความสอดคล้องกับนัยของมาตรา 21 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

นอกจากนั้นการเสนองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมต่อรัฐสภายังต้องดำเนินการให้เป็นไป ตามนัยของมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561

ดังนั้น สำนักงบประมาณ จึงควรชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป รวมทั้งระบุที่มาของเงินที่จะใช้จ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีให้มีความชัดเจน โดยพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน ผลประโยชน์ และผลกระทบต่อความยั่งยืนทางการคลังอย่างครบถ้วนด้วย

 

ภาพประกอบข่าว การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทำเงินดิจิทัลวอลเล็ต ภาพประกอบข่าว การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทำเงินดิจิทัลวอลเล็ต

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบข้อสังเกตของ สศช. เกี่ยวกับ มาตรา 21 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 นั้น พบรายละเอียดว่า

มาตรา 7 กำหนดว่า การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือการดำเนินการใด ๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่าต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย

มาตรา 21 กำหนดว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจําเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้ และให้ระบุที่มาของเงินที่จะใช้จ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมด้วย

ส่วนการเสนองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมต่อรัฐสภา สศช. แนะนะว่า ต้องดำเนินการให้เป็นไป ตามนัยของมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มีความหมายดังนี้

มาตรา 23 กำหนดว่า การจัดทำงบประมาณต้องคำนึงถึงประมาณการรายรับ และฐานะทางการคลังของประเทศ ความจําเป็นในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายใน และภายนอกประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม นโยบายรัฐบาล และภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ

 

ภาพประกอบข่าว รัฐบาลจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทำเงินดิจิทัลวอลเล็ต ภาพประกอบข่าว รัฐบาลจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทำเงินดิจิทัลวอลเล็ต

 

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวจากทำเนียบ ระบุว่า ในการจัดทำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เบื้องต้นได้กำหนดกรอบวงเงินไว้จำนวน 122,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้ดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เนื่องจากการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาทนั้นมีวงเงินไม่เพียงพอ เพราะไม่สามารถปรับลดงบประมาณรายจ่ายหน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้ตามเป้าหมาย

ดั้งนั้นรัฐบาลจึงเลือกตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรืองบกลางปี 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณนี้จะตั้งไว้ในงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ เพื่อนำไปใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทต่อไป