ครม.จัดงบ 95 ล้าน ทำแพลตฟอร์มใหญ่ แต่งตัวรับ “เงินดิจิทัลวอลเล็ต”

21 พ.ค. 2567 | 08:25 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2567 | 09:08 น.

ครม. จัดงบ 95 ล้านบาท ทำโครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน หรือ Payment Platform คาดรอรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท มอบหมายหลายหน่วยงานทำความเห็นเสนอเข้ามาให้รัฐบาลพิจารณา

วันนี้ (21 พฤษภาคม 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. เป็นผู้ดำเนิน โครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) ภายใต้กรอบงบประมาณโครงการ รวมเป็นเงิน 95 ล้านบาท โดยให้หน่วยงานของรัฐและสถาบันการเงินร่วมมือกับ สพร. สนับสนุนข้อมูล และร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะต่อไป

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สพร. จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) ขึ้น เพื่อเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินกลางของประเทศไทยที่สามารถเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศไทย ลดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ยกระดับศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

รวมทั้งเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อทุกภาคส่วน ประกอบกับการดำเนินโครงการดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะยกระดับการพัฒนาพื้นฐานทางสังคมด้วยกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของภาครัฐที่มีความโปร่งใสและเพิ่มประสิทธิภาพระบบงานภาครัฐเพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เช่น การพัฒนาระบบการบริการเดียวของภาครัฐ (SUPER APP) 

ทั้งนี้ที่ประชุมครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของครม. รวมทั้งได้ขอให้กระทรวงการคลัง เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ด้วย

สำหรับสาระสำคัญของโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) สรุปได้ดังนี้

วัตถุประสงค์ของโครงการ Payment Platform

  • เพื่อให้มีระบบแพลตฟอร์มการชำระเงินที่สามารถรองรับการบริหารจัดการการชำระเงินของภาครัฐให้กับประชาชนที่มีประสิทธิภาพ ประหยัด ปลอดภัย เชื่อถือได้และเปิดกว้างให้เชื่อมต่อกับผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้หลายรายและตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลดิจิทัลของรัฐบาลได้
  • เพื่อรองรับการให้เงินช่วยเหลือ/สนับสนุนจากรัฐถึงประชาชนที่สามารถเจาะจงเป้าหมายการรับเงินในแต่ละกรณี/ประเภท เพื่อให้ประชาชนได้รับเงินอย่างรวดเร็วและตรงตัวมากขึ้น
  • เพื่อให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลของการจ่ายเงินช่วยเหลือและค่าชดเชยต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์นโยบายเกี่ยวกับเงินสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป
  • เป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินกลางของประเทศไทยที่สามารถรองรับการใช้งานของประชาชนและภาคธุรกิจผ่านการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการทางการเงินได้ทุกรายที่เข้าร่วมโครงการ

กรอบแนวคิดโครงการ Payment Platform

  • ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนกลุ่มต่าง ๆ เช่น ประชาชนที่เดือดร้อนจากเหตุภัยพิบัติ เกษตรกร และผู้ประกอบธุรกิจด้านการเกษตรสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผ่าน Government Super Application โดยข้อมูลการร้องขอจะถูกส่งไปยังแพลตฟอร์มการชำระเงิน
  • ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้แอปพลิเคชันของธนาคารหรือแอปพลิเคชันทางการเงินหรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์รายใดก็ได้ที่เข้าร่วมโครงการในการชำระเงิน หรือรับชำระเงิน
  • แพลตฟอร์มการชำระเงินสามารถตรวจสอบรายการให้เป็นไปตามกฎหรือกติกาตามที่ภาครัฐกำหนด ทั้งในส่วนผู้ชำระเงินและผู้รับชำระเงิน (Transaction Processing System) โดยธุรกรรมที่เกิดขึ้นภายในระบบการชำระเงินจะถูกบันทึกและเก็บข้อมูลในรูปแบบการเข้ารหัสผ่านบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยด้านความปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือ

ขั้นตอนการดำเนินโครงการ    

  • พัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) สำหรับการให้บริการ
  • ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของระบบให้บริการ ด้วยการทดสอบการเจาะระบบ (Penetration Test) และประเมินความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบ (Vulnerability Assessment) พร้อมปิดช่องโหว่ของความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
  • สำรวจและร่วมกันทดสอบระบบการเชื่อมโยงเงินอิเล็กทรอนิกส์กับภาคีเครือข่ายภาคธุรกิจ สถาบันการเงินต่าง ๆ ที่สนใจ
  • จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ คู่มือวิธีการใช้งาน ในรูปแบบคลิปวิดีโอ อินโฟกราฟิก ทั้งในส่วนของผู้ใช้งานทั่วไป ผู้ประกอบการ หน่วยงานของรัฐ และสถาบันการเงิน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ

ระยะเวลาดำเนินการ

ในระยะแรก จำนวน 160 วัน (ไม่รวมระยะเวลาการจัดซื้อจัดจ้าง) มีระยะเวลาดังนี้

  • เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567 จัดซื้อจัดจ้างและประชุมเชิงปฏิบัติการ 
  • เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2567 ดำเนินการพัฒนาและทดสอบระบบ 
  • เดือนตุลาคม 2567 – มีนาคม 2568 ให้บริการระบบและสนับสนุนการใช้งาน