สศช. แนะรัฐทำ Matching คนโสด พบคนไทย 40% ไร้คู่ หนุนเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่

27 พ.ค. 2567 | 05:49 น.

สศช. เปิดข้อมูลสังคมคนโสด พบคนไทยวัยทำงาน 40% ไร้คู่ บางส่วนมีมาตรฐานในการเลือกคู่สูงขึ้น พร้อมหาทางส่งเสริมให้คนมีลูกเพิ่มขึ้น แนะรัฐทำ Matching คนโสด หากิจกรรมทำให้พบรัก

วันนี้ (27 พฤษภาคม 2567) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 โดยนำเสนอบทความเรื่อง ทำอย่างไรเมื่อประเทศไทยเป็นสังคมคนโสด โดยระบุข้อมูลว่า

ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันนโยบายส่งเสริมการมีลูกโดยมีเป้าหมายไปที่คนมีคู่ เพื่อแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย แต่เมื่อพิจารณาสถานภาพของคนในสังคม จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2566 พบว่า 1 ใน 5 ของคนไทย เป็นคนโสด โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 23.9% 

ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะช่วงวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15 - 49 ปี) พบว่า มีคนโสดอยู่ที่ 40.5% สูงกว่าภาพรวมประเทศเกือบเท่าตัว และเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีสัดส่วน 35.7% ซึ่งคนโสดส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตเมือง โดยกรุงเทพฯ มีสัดส่วนคนโสดต่อประชากรในพื้นที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ถึง 50.4% 

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2567

ส่วนคนโสดส่วนใหญ่ ที่มีอายุอยู่ระหว่าง 15 – 25 ปี และส่วนมากจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป เมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า คนโสดเพศหญิงมีสัดส่วนคนจบปริญญาตรีอยู่ที่ 42% สูงกว่าเพศชายเกือบเท่าตัว (เพศชายอยู่ที่ 25.7%)  และเมื่อพิจารณาในกลุ่มคนมีคู่ ยังพบว่า มีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตร่วมกันมากขึ้น สะท้อนได้จากคนที่แต่งงานแล้วที่มีสัดส่วนลดลงจาก 57.9% มาอยู่ที่ 52.6% และจำนวนการหย่าร้างเพิ่มขึ้น 22% จากปี 2560

จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ข้างต้นเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญต่อเป้าหมายการเพิ่มประชากร ดังนั้น หากไทยต้องการส่งเสริมให้คนมีลูกเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการมีคู่ของคนโสดด้วย จากการทบทวนงานศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเป็นคนโสดประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 

  1. ค่านิยมทางสังคม
  2. ปัญหาความต้องการ/ความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกัน 
  3. โอกาสในการพบปะผู้คน 
  4. นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐ 

ค่านิยมทางสังคม 

ปัจจุบันค่านิยมในการใช้ชีวิตคู่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก โดยมีค่านิยมใหม่ เกิดขึ้นในสังคมไทยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและพฤติกรรมของบุคคลที่หลากหลาย การใช้ชีวิตเป็นโสดเพิ่มขึ้น และส่งผลให้มีแนวโน้มด้านต่าง ๆ เช่น 

1. SINK (Single Income, No Kids) หรือคนโสดที่มีรายได้และไม่มีลูก 

โดยกลุ่มนี้ เน้นใช้จ่ายเพื่อเติมเต็มความสุขให้ตนเองเป็นหลัก อาทิ การท่องเที่ยว สุขภาพ/ความงาม ที่อยู่อาศัย โดยในปี 2566 จากข้อมูล SES เมื่อจำแนกประชากรช่วงวัยเจริญพันธุ์ตามระดับรายได้ 10 กลุ่มและสถานภาพสมรส พบว่า สัดส่วน คนโสดสูงขึ้นตามระดับรายได้ 

ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านตัวเงินประเภทต่าง ๆ ของคนโสด ยังพบว่า ส่วนใหญ่ เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหาร การเดินทางและการติดต่อสื่อสาร และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ (อาทิ ภาษี เบี้ยประกันภัย การบริจาค/ทำบุญ)

2. PANK (Professional Aunt, No Kids) หรือกลุ่มผู้หญิงโสดอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้/ อาชีพการงานดีและไม่มีลูก

เน้นไปที่การดูแลหลาน/เด็กในครอบครัวรอบตัว จากข้อมูล SES ปี 2566 พบว่า คนโสด PANK มีจำนวนทั้งหมด 2.8 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ดีและจบการศึกษาสูง กล่าวคือ กว่า 26.6% ของคนโสด PANK อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด (Decile 10) และจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปมากถึง 46.5% 

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามการประกอบอาชีพของคนโสด PANK (กลุ่ม Decile 10 ที่จบการศึกษา ในระดับปริญญาตรีขึ้นไป) พบว่า ส่วนใหญ่เป็น ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่าง ๆ อาทิ นักฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ ศิลปิน นักแสดง เจ้าหน้าที่เทคนิค เช่น ช่างเทคนิคด้าน เคมี/วิทยาศาสตร์กายภาพ ช่างเทคนิควิศวกรโทรคมนาคม เป็นต้น 

3. Waithood กลุ่มคนโสดที่เลือกจะรอคอยการมีความรักต่อไป 

เนื่องจากความไม่พร้อม/ไม่มั่นคงในสถานะทางเศรษฐกิจ จึงมองว่าการแต่งงานในขณะที่ยังไม่พร้อมจะเป็นการลดโอกาสด้านอื่น ๆ ที่อาจเข้ามา อีกทั้ง ยังจะเป็นภาระทางการเงินอีกด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากคนโสด 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด (Bottom 40) โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 37.7% ของประชากรช่วงวัยเจริญพันธุ์ทั้งหมดที่มีรายได้ต่ำกว่า 40% ทั้งนี้ คนโสด Bottom 40 ส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากถึง 62.6% 

อีกทั้ง ยังมีระดับการศึกษาที่ไม่สูงนัก ส่งผลให้ความสามารถในการหารายได้จำกัด โดยอาชีพส่วนใหญ่ของคนโสด Bottom 40 คือ ผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง และผู้ประกอบอาชีพด้านงานพื้นฐาน อาทิ คนงาน ผู้ช่วยทำความสะอาดที่พักอาศัย นอกจากนี้ 52.9% ยังเป็นผู้ไม่ได้ทำงานหารายได้อีกด้วย

ปัญหาความต้องการ/ความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกัน (The Mismatch Problem) 

การเปลี่ยนแปลงบทบาททางเพศ อาทิ การเข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานที่มากขึ้นของเพศหญิง และการศึกษา ที่สูงขึ้นของเพศหญิง ทำให้การมองหาคู่ของคนโสดเปลี่ยนไปจากอดีต โดยคนโสดบางส่วนมีมาตรฐานในการเลือกคู่สูงขึ้น ทำให้มีโอกาสเจอคนโสดที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการได้ยาก จึงต้องเป็นโสดต่อไป 

จากการสำรวจความต้องการของคนโสดของบริษัทมีทแอนด์ลันช์ สาขาประเทศไทย (2021) พบว่า มีผู้หญิงไทยกว่า 76% จะไม่เดทกับผู้ชายที่มีรายได้น้อยกว่า และ 83% ไม่ยอมคบผู้ชายที่มีส่วนสูงน้อยกว่า ขณะเดียวกัน ผู้ชายกว่า 59% ไม่เปิดใจคบกับผู้หญิงตัวสูงกว่า และอีกกว่า 60% จะไม่ออกเดทกับผู้หญิงที่เคยหย่าร้าง 

นอกจากนี้ ปัญหาความคาดหวังทางสังคมที่มีต่อผู้หญิงยังทำให้ผู้หญิงบางส่วนเลือกจะครองตัวเป็นโสดมากขึ้น โดย Hwang (2016) ระบุว่า ประเทศในทวีปเอเชียส่วนใหญ่มีรากฐานวัฒนธรรมของความคาดหวังต่อผู้หญิงสูง โดยเฉพาะภายหลังการแต่งงานที่ผู้หญิงควรต้องมีบทบาททั้งในบ้านและนอกบ้าน กล่าวคือ ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้าน ที่มีหน้าที่เลี้ยงลูกและทำงานบ้าน และควรต้องเป็นหนึ่งในแรงงานหลักที่ต้องหาเงินเข้าบ้านและเลี้ยงครอบครัว

โอกาสในการพบปะผู้คน 

จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2566 พบว่า คนโสดมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สูงกว่าชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยรวมของทั้งประเทศ ที่อยู่ที่ 42.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่คนมีคู่ (แต่งงานแล้ว) มีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 40.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 

นอกจากนี้ จากผลการจัดอันดับ Best and Worst Cities for Work - Life Balance ปี 2565 ของบริษัท Kisi” พบว่า กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่ 5 ของเมืองที่แรงงานทำงานหนักที่สุดในโลก ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า การที่คนโสดต้องใช้เวลา ส่วนใหญ่ไปกับการทำงานทำให้ไม่มีโอกาสในการมองหาคู่อย่างจริงจัง จึงเลือกที่จะอยู่เป็นโสดและมองหาเป้าหมายอื่น 

นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐ

พบว่า ยังไม่ต่อเนื่องและครอบคลุมความต้องการของคนโสด โดยการดำเนินกิจกรรมในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ในปี 2564 กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดกิจกรรม “โสดมีตติ้ง” เพื่อเปิดโอกาสให้คนโสดได้เรียนรู้และพัฒนาความสัมพันธ์กัน และในปี 2566 จัดกิจกรรม “Sod Smart” เพื่อพัฒนาศักยภาพคนโสดรุ่นใหม่ สร้างทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้ชีวิตคู่และการมีลูก ผลการจัดกิจกรรมส่วนหนึ่ง พบว่า คนโสดที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 87% อยากมีคู่ แต่เหตุผลที่ยังเป็นโสด คือ ยังไม่เจอคนที่ใช่ ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสได้พบเพื่อนใหม่ และมีภาระมาก 

ขณะที่ในปี 2563 และปี 2566 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับ Tinder และบริษัท ไดร์ฟ ดิจิทัล จำกัด ได้จัดทำโครงการ “เส้นทางคนโสด Single Journey” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวในประเทศและเปิดโอกาสให้คนโสดได้มีโอกาสพบกัน 
ส่วนในต่างประเทศมีแนวทางการส่งเสริม การมีคู่ที่ครอบคลุมไปถึงการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและการสร้างโอกาสในการมีคู่ เช่น

สิงคโปร์ ในปี 2561 มีการจัดทำโครงการลดคนโสด โดยสนับสนุนเงินอย่างน้อย 2,500 บาท เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ในกิจกรรมออกเดท/ บริการหาคู่ เพื่อส่งเสริมให้คนโสดได้มีโอกาสพบรักกัน 

จีน ในปี 2566 รัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลเจียงซี ให้การสนับสนุนแอปพลิเคชันหาคู่ โดยใช้ฐานข้อมูลของคนโสดที่อาศัยอยู่ในเมืองมาพัฒนาจัดทำแพลตฟอร์มบริการ จัดหาคู่ ที่เรียกว่า Palm Guixi 

ญี่ปุ่น ในปี 2567 จัดทำแอปพลิเคชันหาคู่ สำหรับคนโสดที่อายุมากกว่า 18 ปี ที่อาศัย ทำงาน หรือเรียนอยู่ในกรุงโตเกียว โดยใช้ระบบ AI เพื่อช่วยวิเคราะห์หาคนที่มีความชอบใกล้เคียงกัน รวมทั้งยังมีระบบการยืนยันตัวตนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้งานอีกด้วย

ข้อเสนอ สศช. แก้ปัญหาคนโสด

ทั้งนี้ จากนโยบายส่งเสริมการมีคู่ของไทยในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเน้นไปที่กลุ่มคนโสดที่มีความพร้อม อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากจำนวนคนโสดในไทยที่เพิ่มขึ้นสูงร่วมกับปัจจัยต่อการเป็นโสดข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีคนโสดอีกมากที่อาจอยากมีคู่ แต่มีอุปสรรคและข้อจำกัดที่ทำให้ต้องเป็นโสด ซึ่งไทยยังมีโอกาสในการดำเนินการสนับสนุนให้คนมีคู่ได้ ดังนี้ 

1. การสนับสนุนเครื่องมือการ Matching คนโสด โดยภาครัฐ อาจร่วมมือกับผู้ให้บริการ/พัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมให้คนโสดสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น เนื่องจากแอปพลิเคชัน หาคู่ในตลาดมีต้นทุน ขึ้นอยู่กับฟังก์ชันและความปลอดภัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน 

2. การส่งเสริมการมี Work - Life Balance ทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะช่วยให้คนโสดมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาส ให้คนโสดมีเวลาทำกิจกรรมที่ชอบและพบเจอคนที่มีความชอบลักษณะเดียวกันมากขึ้น 

3. การยกระดับทักษะ ที่จำเป็นในการทำงาน เพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานและรายได้ อาทิ คอร์สเรียนเพิ่มทักษะ Soft & Hard Skills นอกจากนี้ จากผลสำรวจคิด for คิดส์ ปี 202238 พบว่า 58.9% ของคนโสดยังมีโอกาส พบรักจากสถานศึกษาได้อีกด้วย 

4. การส่งเสริมกิจกรรมและการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง อาทิ กิจกรรมทำอาหาร ออกกำลังกาย อาสาสมัคร ทำงานศิลปะ ทำบุญ เพื่อส่งเสริมให้คนโสดได้มีโอกาสพบปะพูดคุย และสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย