แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 3/2567 เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบปรับปรุงกรอบการคลังระยะปานกลาง พร้อมกับอนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 67 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต แบ่งออกเป็น การกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณรายจ่าย ปี 67 วงเงิน 1.12 แสนล้านบาท และการจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมที่ไม่ใช่การจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ตามไทม์ไลน์จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ค.67) หลังจากนั้นจะจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 67 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เข้าประชุมครม.เห็นชอบอีกครั้ง เพื่อดำเนินการเข้าสู่ขั้นตอนของการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
แหล่งข่าวกล่าวว่า โดยกระทรวงการคลังได้ให้เหตุผลในการใช้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90 % หากไม่มีมาตรการอะไรออกมาช่วงปลายปีอาจจะทำให้อัตราหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ส่วนสาเหตุที่ไม่กู้ขาดดุลทั้งหมดให้เต็มจำนวน 1.75 แสนล้านบาทนั้น เนื่องจากกรอบวงเงินกู้ขาดดุลปี 67 ไม่เพียงพอ การกู้ขาดดุลครั้งนี้แค่เกือบเต็มเพดาน
แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีข้อสังเกตว่า อาจจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ รวมถึงส่งผลให้ "พื้นที่ว่างทางการคลัง" เหลือน้อย หากเกิดวิกฤตอาจจะทำให้ไม่มีงบประมาณสำหรับรับมือในอนาคต ซึ่งนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้รับข้อสังเกตของ ธปท.ไปดู รวมถึงข้อสังเกตเรื่องค่าใช้จ่ายประจำและเงินเดือนบุคลากรภาครัฐ ขณะที่สภาพัฒน์ให้ความเห็นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายประจำและค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการที่เพิ่มสูงขึ้นควรศึกษาให้เหมาะสม
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิธีการบริหารจัดการงบประมาณสำหรับนำเงินมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายปี 67 วงเงิน 1.75 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 3 วิธี ได้แก่ วิธีที่หนึ่ง การจัดทำพ.ร.บ.โอนงบประมาณ วิธีที่สอง การจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และวิธีที่สาม การใช้งบกลาง เงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 67 ร่วมกับ พ.ร.บ.โอนงบประมาณ
วิธีแรก ถ้าใช้การออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณ จะทำให้ระบบงบประมาณหยุดชะงัก หน่วยงานต่าง ๆ ต้องหยุดการใช้จ่ายงบประมาณ เม็ดเงินก็จะไม่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจ จึงไม่เหมาะสม เพราะขณะนี้เม็ดเงินกำลังไหลสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งรัดการเบิกจ่ายตามมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ประกอบกับการนำเงินงบประมาณที่ตั้งอยู่แล้วเดิมมาทำโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่ตอบสนองการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรจะเป็นเม็ดเงินที่เพิ่ม
"จึงมีข้อสรุปว่า ควรจะออกเป็นงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม โดยจะมีการจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมและสามารถกู้ชดเชยการขาดดุลได้หรือไม่"
วิธีที่สอง การจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเห็นชอบวิธีนี้) และ วิธีที่สาม การใช้งบกลาง เงินสำรองจ่าย ฯ 67 และ พ.ร.บ.โอนงบประมาณ เช่น งบกลางฯ บวกกับการ ออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณในส่วนของเงินที่ใช้ไม่ได้จริง ๆ ช่วงปลายปีงบประมาณ หรืออาจจะใช้งบกลาง เงินสำรองจ่ายฯ ปี 68 ก็เป็นอีกช่องทาง เพื่อมาเติมในส่วนที่ยังขาดอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท