ธุรกิจประมงอ่วมหนัก! แนะรัฐคุมค่าไฟฟ้า-น้ำมัน ก่อนขึ้นค่าแรง 400 บาท

29 พ.ค. 2567 | 06:13 น.

ประธานสมาคมประมงฯแนะรัฐคุมค่าไฟฟ้า-น้ำมัน ก่อนสินค้าขยับตามค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ขณะประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง ยอมรับผู้ประกอบการประมง-ลูกจ้าง หวั่นตกงานเพิ่มขึ้น พร้อมรวมตัวหน้าทำเนียบ ชี้รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

จากกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2567  ส่งผลให้หอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านนโยบายดังกล่าว  พร้อมเสนอให้ยึดกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง เป็นสำคัญนั้น
 (ไตรภาคี) ธุรกิจประมงอ่วมหนัก! แนะรัฐคุมค่าไฟฟ้า-น้ำมัน ก่อนขึ้นค่าแรง 400 บาท
นายมงคล สุขเจริญคณา  ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย  เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  การเตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาทนั้น  ยังไม่ใช่เรื่องหนักใจและส่งผลกระทบไม่มากนักต่อกิจการประมง  ทั้งนี้เพราะค่าแรงลูกเรือประมงประเภทต่างๆ อยู่ที่ประมาณวันละ  300-600 บาท อยู่แล้ว  ทั้งการใช้แรงงานในกิจการประมงของเรือแต่ละลำก็มีไม่มาก  เช่น  เรือประมงขนาดเล็กจะให้คนงานในเรือประมาณ  3 - 5 คน  เรืออวนลากจะใช้แรงงานอยู่ที่ประมาณ 5 - 10 คน  เรือประมงอวนล้อมใช้แรงงานอยู่ที่ประมาณ 20 - 50 คน  

ประธานสมาคมการประมงฯกล่าวต่อว่า ปัญหาที่หนักใจกลับไปอยู่ที่ทุกวันนี้หาลูกจ้างลงเรือประมงยาก  เนื่องจากไม่มีคนงานและส่วนใหญ่ต้องใช้แรงงานต่างด้าว  โดยปัญหาหนักของผู้ประกอบกิจการประมงขณะนี้  ยังคงอยู่ที่เรื่อง  1.สัตว์น้ำมีราคาตกต่ำ  2.ปัญหาค่าน้ำมันเชื้อเพลิงราคาสูง  3.มาตรการควบคุมชาวประมงอย่างเข้มงวดของทางราชการ 

จริงๆแล้วการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท  คือเพิ่มขึ้นอีกวันละ 100 บาทนั้น  น่าจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน  เนื่องจากตัวเลขจำนวนแรงงานในระบบราชการมีอยู่ประมาณ  38 ล้านคน  ดังนั้นเมื่อมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  ก็จะมีเงินออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจถึงวันละ  3,800 ล้านบาท  หมายความว่าจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น  ผู้ใช้แรงงานมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น  มีเงินมากระตุ้นและหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น  ทั้งเงินที่นำออกมาสะพัดในระบบการเพิ่มค่าแรงดังกล่าว  รัฐบาลไม่ต้องควักกระเป๋าหรือไม่ต้องเอางบประมาณมาจ่าย  เพราะเป็นเงินค่าจ้างที่นายจ้างหรือผู้ประกอบการต้องเป็นผู้จ่ายเอง

ธุรกิจประมงอ่วมหนัก! แนะรัฐคุมค่าไฟฟ้า-น้ำมัน ก่อนขึ้นค่าแรง 400 บาท

"ส่วนปัญหาภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้แรงงานเข้มข้น  หรือใช้แรงงานจำนวนมากนั้น  รัฐบาลก็น่าจะชดเชยโดยให้ความช่วยเหลือต่างๆ เช่น  

การให้ปรับราคาสินค้าตามอัตราที่เหมาะสม  การหามาตรการช่วยลดภาระด้านการผลิต  ช่วยลดภาระด้านการใช้พลังงานเชื้อเพลิง  ไฟฟ้า  น้ำประปา  ระบบการขนส่ง  รวมไปถึงการหามาตรการช่วยเหลือด้านภาษีและการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ถ้าราคาสัตว์น้ำไม่ตกต่ำ  ทุกอย่างก็จะสมดุล  และไม่มีผลกระทบกับการขึ้นค่าแรงมากนั" นายมงคล  กล่าวในตอนท้าย
 

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  ถ้าปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ผู้ประกอบการด้านประมงกระทบมาก เพราะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ศักยภาพการแข่งขันลดลง สู้อุตสาหกรรมคู่แข่งในประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ เพราะประเทศไทยค่าไฟฟ้าแพง และน้ำมันราคาแพง  เป็นการทำลายโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โครงสร้างเศรษฐกิจมีความเปราะบางอยู่แล้ว ยิ่งทรุดลงไปอีก ทำให้ฟื้นยาก  โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ขณะที่ผู้ผลิตจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น  หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องปรับราคาสินค้าขึ้นอีก  

ปัจจุบันธุรกิจอาหารทะเลมีประมาณ 1,000 กว่าโรงงาน เป็นขนาดใหญ่ ประมาณ 30 โรงงานที่มีพนักงาน 1,000 คนขึ้นไป ที่เหลือเป็นขนาดกลาง ขนาด 300-500 คน จะเยอะ ต่ำกว่า100 ประมาณ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ เวลากระทบผู้ประกอบการก็ไปขึ้นค่าสินค้า ขายไม่ได้ก็ลดคนงาน แต่ธุรกิจขนาดเล็ก ลดแล้วลดอีกลดจนเจ๊ง ไม่รู้จะลดตรงไหนนอกจากปิดกิจการ ธุรกิจประมงตอนนี้กระทบหลายด้าน แรงงานหายาก ยิ่งขึ้นค่าแรงต้นทุนก็ยิ่งสูงขึ้น แต่ราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำ คนไม่มีกำลังซื้อ และสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การพิจารณาให้ค่าจ้าง อยู่ที่แรงงานขาดหรือไม่ ถ้าแรงงานล้นนายจ้างอาจจะจ้างถูก แต่ส่วนมากจ้างวันละ 400 บาท  ยังไม่รวมค่าโอที เพราะต้องแย่งแรงงานกัน  กรณีแรงงานต่างด้าวตอนนี้จ้างวันละ 380-400 บาท จะสูงกว่าขึ้นต่ำเล็กน้อย แต่ถ้าปรับขึ้นวันละ 400 จะมีผลกระทบเพราะลูกจ้างจะขอเป็น 420 บาท สิ่งที่จะตามมาผู้ประกอบการก็จะเจ๊ง เศรษฐกิจจะซบเซาหนักขึ้นไปอีก 

ขณะนี้ค่าจ้างมีความสมดุลระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างอยู่แล้ว  สิ่งที่รัฐบาลควรแก้ไขให้ถูกจุด คือ ดูแลราคาค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ดูแลคนให้อยู่ดีกินดี ให้เหมือนประเทศที่เจริญแล้ว ตอนนี้ที่อยู่ได้เพราะประเทศไทยมีจุดแข็งคือระบบโลจิกสติกส์ของไทยดีกว่าประเทศอื่น ดังนั้นรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลประชาชน ส่วนเรื่องธุรกิจให้เอกชนดูแล การส่งออกเป็นการสร้างรายได้ให้ประเทศ  ตอนนี้ดูเหมือนรัฐจะไปทำลายคนที่หาเงินให้ประเทศ และเอาภาษีมาดูแลประชาชน 

"ผมเป็นห่วงรัฐบาลกรณีแรงงานที่ตกงาน รวมทั้งผู้ประกอบการ จะไปนัดเจอกันที่หน้าทำเนียบ  เพราะขึ้นค่าแรงทำให้เขาเดือดร้อน เมื่อไม่มีทางไปแล้วเขาจะทำอย่างไร  เตรียมดูแลเขาให้ดีหน่อย ผมไม่ได้ส่งเขาไป เขาตกงานเขาก็ไปหารัฐบาลให้ช่วย  เตรียมรับมือและฝากดูแลเขาด้วย" ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง กล่าวทิ้งท้าย

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3996 วันที่ 30 พฤษภาคม -1 มิถุนายน พ.ศ. 2567