ขึ้นค่าแรง 400 บาท 3.3 ล้านแรงงานต่างด้าวเฮ รอรับอานิสงส์

18 พ.ค. 2567 | 05:30 น.

หอการค้าฯ ชี้แรงงานต่างด้าว 3.3 ล้านคนรอเฮรับอานิสงส์ขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วไทย ขณะภาคก่อสร้างไข้ขึ้นคนขาด-แบกต้นทุนเพิ่ม 15% สะเทือนถึงลาว จับตาแรงงานไหลเข้าไทย

นายวีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดยแสดงความกังวลใจต่อกรณีที่รัฐบาลได้ประกาศไทม์ไลน์ เตรียมปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็น 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ เริ่ม 1 ตุลาคม 2567 ว่า จะเป็นดาบสองคม เพราะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลต่อการปรับขึ้นค่าจ้างและเงินเดือนทั้งระบบตามมา ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบโดยทั่วกัน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอีกระทบ 100% ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ เวลานี้ได้มีการใช้หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานคนมากขึ้น การจ่ายค่าแรงงานขั้นต่ำแทบจะไม่มีแล้ว เพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ

 “คนที่ได้รับค่าแรงขึ้นต่ำ มีสัดส่วนเพียง 20% เท่านั้นที่เป็นแรงงานไทย ที่เหลือเป็นแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่รับเป็นค่าแรงขึ้นต่ำมีสัดส่วนมากถึง 80% ดังนั้นผลประโยชน์จะไปตกอยู่กับแรงงานต่างด้าว เงินเดือนก็กลับประเทศเขา ใช้จ่ายหมุนเวียนในไทยน้อย สมมุติเขาได้เดือนละ 2 หมื่นบาท จะโอนกลับประเทศ 12,000 บาท หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งโอนออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาครที่ถือเป็นเมืองหลวงของแรงงานต่างด้าว”

เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานคนไทย แม้เพิ่งเริ่มทำงาน ถ้าได้ใบรับรอง มีค่าแรงตามกฎหมายกำหนด และตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน นายจ้างไทยต้องการแรงงานคนไทยมากกว่า ถ้าไม่เป็นงานก็ได้ค่าแรงขั้นต่ำ พอเป็นงานก็ปรับค่าแรงให้ คนที่เป็นงานอยู่แล้ว เช่น แรงงานในสุพรรณบุรี ค่าแรงขั้นต่ำ 348 บาท คนที่ค่าแรง 400 บาทก็ต้องปรับขึ้นอีก ต้องปรับทั้งระบบ เด็กเข้าทำงานใหม่ได้ปรับค่าจ้าง หากคนที่ทำงานมาก่อนไม่ได้ปรับ จะเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำตามมา

สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน ณ วันที่ 26 เมษายน 2567 มีคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร จำนวนทั้งสิ้น 3.32 ล้านคน โดย 5 จังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ,ชลบุรี และปทุมธานี ตามลำดับ (ดูกราฟิกประกอบ) โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวเมียนมา กัมพูชา และลาว

ขึ้นค่าแรง 400 บาท 3.3 ล้านแรงงานต่างด้าวเฮ รอรับอานิสงส์

นางสาวลิซ่า งามตระกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ 400 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบรุนแรงมาก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เนื่องจากต้องใช้แรงงานมาก การปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าก่อสร้างสูงขึ้นประมาณ 15% ขณะที่ ณ ปัจจุบันเกิดการขาดแคลนแรงงานในบางจังหวัด และยังเกิดปัญหาการไหลของแรงงานจากจังหวัดที่มีค่าครองชีพสูงไปสู่จังหวัดที่มีค่าครองชีพต่ำ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน เพราะแรงงานส่วนใหญ่จะย้ายไปอยู่ในจังหวัดที่มีค่าครองชีพต่ำแต่ได้ค่าแรงเท่ากัน

 “เรามองว่าค่าแรงที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับการพิจารณาแต่ละจังหวัด ที่ควรเป็นไปตามดีมานด์และซัพพลายของระบบเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการคณะกรรมการไตรภาคี ก่อนและไม่ควรปรับขึ้นทุกจังหวัด”

ด้านผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศลาว กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงงาน 400 บาทของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้น จะส่งผลให้คนลาว จะยิ่งเดินทางข้ามไปทำงานในไทยเพิ่มไปอีก ซึ่งจะยิ่งทำให้ภาคธุรกิจต่างๆในลาว จะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันค่าแรงงานขั้นต่ำของลาวอยู่ที่ 1 แสนกีบต่อวัน (ประมาณ 160-170 บาท) หรือราว 3,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น

ทุกวันนี้คนลาวก็ข้ามไปทำงานที่ไทยอยู่แล้วเพราะค่าแรงงานที่สูงกว่า โดยได้ค่าแรง 9 พันบาท-1 หมื่นบาทต่อเดือน มากกว่า 2 เท่าตัว และสามารถนำเงินส่งกลับมาที่ลาวได้มาก ขณะที่การทำงานที่ลาวค่าแรงถูก สวนทางกับค่าครองชีพในลาวที่สูง เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศกว่า 80% นำเข้าจากต่างประเทศ คนลาวส่วนใหญ่จึงข้ามไปทำงานที่ไทยเป็นส่วนใหญ่ ตามด้วยเกาหลีใต้

ขณะที่ นางสาววรารัตน์ โชติวรรณ เจ้าของโรงแรมตราดซิตี้ และอดีตเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตราด กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท โรงแรมขนาดใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากค่าจ้างของโรงแรมสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ส่วนโรงแรมขนาดเล็ก หรือรีสอร์ท ยอมรับว่าจะได้รับผลกระทบพอสมควร เนื่องจากค่าห้อง หรือรายได้ไม่มากเหมือนโรงแรมระดับ 4 ดาว