สศช. เตือนชั่งน้ำหนักไทยร่วมวงสมาชิก BRICS หวั่นกระทบ OECD

31 พ.ค. 2567 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2567 | 12:00 น.

สศช. เสนอแนะ กระทรวงการต่างประเทศ ชั่งน้ำหนักประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศบริกส์ BRICS เข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ หรือ ฐานะหุ้นส่วน หวั่นกระทบกรอบ OECD

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็น สมาชิกของกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) โดยเห็นว่า จะมีส่วนช่วยยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยเป็นการกระชับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพจะก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคตนั้น 

ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอความเห็นที่น่าสนใจต่อที่ประชุมครม. ว่า การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะนำมาซึ่งการเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ ผ่านการกระชับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพ และเปิดประตูการค้าของประเทศไทยสู่ตลาดใหม่ได้มากขึ้น ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือในระดับพหุภาคีนั้น จำเป็นต้องพิจารณาผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมในภาพรวม และความมั่นคงของประเทศอย่างละเอียดรอบคอบ 

ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศ จึงควรพิจารณาดำเนินการศึกษาประโยชน์และผลกระทบเชิงลึกที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ทั้งในลักษณะการเข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ (full member) และฐานะหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS (partner) รวมทั้งความแตกต่างระหว่างการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS กับการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มทางเศรษฐกิจอื่น หรือ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น 

อีกทั้งควรนำรายงานผลการศึกษาดังกล่าวมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ของประเทศไทย นอกจากนี้ เพื่อให้กระบวนการเข้าเป็น สมาชิกฯ เป็นไปอย่างครอบคลุม และกระทรวงการต่างประเทศ ควรสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในเรื่อง ดังกล่าวกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมด้วย

ขณะเดียวกันเพื่อให้สอดคล้องกับการที่ประเทศไทยได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่ง OECD เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทนำในการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ และมุ่งเน้นการพัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติที่ดี 

รวมถึงหลักการด้านการปกครองภายใต้หลักนิติธรรม (rule of law) ด้านการเคารพสิทธิมนุษยชน (human rights) และด้านการสนับสนุนระบบตลาดแบบเปิดและมีความโปร่งใส (open and transparent market economy) 

กระทรวงการต่างประเทศ ควรพิจารณาให้รอบด้านในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS โดยเฉพาะการดำเนินการที่อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการ ไปแล้วและอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของ OECD โดยการดำเนินการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกรอบความ ร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ควรตั้งอยู่บนหลักการดำเนินการทางการทูตอย่างสมดุลที่ยึดประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ