รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการ นโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ฐานะการคลังเสี่ยงเพิ่มจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าหมายมาก ความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้น
จำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อใช้ในการบริหารและพัฒนาประเทศ แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม หากสามารถกำกับดูแลไม่ให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 70% ภาระหนี้ของรัฐบาลและภาระผูกพันมาตรการกึ่งการคลังสะสมไม่เกินเกณฑ์วินัยการเงินการคลัง
สัดส่วนหนี้สาธารณะสกุลเงินต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 1.42% (เพดานอยู่ที่ไม่เกิน 10%) สัดส่วนหนี้สาธารณะสกุลเงินต่างประเทศต่อรายได้จากส่งออกสินค้าและบริการอยู่ 0.05% (ไม่เกินเพดาน 5%)
และยังสามารถจัดสรรเงินงบประมาณชำระหนี้คืนต้นเงินกู้ในแต่ละปีงบประมาณรายจ่ายไม่น้อยกว่า 2.5%-4% เมื่อพิจาณาเกณฑ์เพดานกำกับบริหารหนี้สาธารณะต่างๆแล้ว ขณะนี้ ประเทศไทยยังห่างไกลความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือของประเทศและความเสี่ยงนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
การที่ประเทศไทยจะยังไม่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในอนาคตอันใกล้ หากพิจารณาจากสถานะทางการคลังการเงินของประเทศยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศยังอยู่ในระดับสูง ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สินต่างประเทศต่ำมากๆ ทุนสำรองระหว่างประเทศต่อมูลค่านำเข้าอยู่ในระดับสูงถึง 7-8 เดือน รัฐบาลสามารถระดมทุนในประเทศได้ หนี้ภาครัฐส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวในรูปสกุลเงินบาท การถือพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ของไทยยังมีความปลอดภัย
โดยล่าสุด Fitch Ratings ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มการขาดดุลงบประมาณในปี 2568 ทำให้การขาดดุลงบประมาณเทียบกับจีดีพีของไทยสูงกว่าค่ากลางของประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน ขณะที่ S&P ก็ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่ BBB+ และคงมุมมองในระดับมีเสถียรภาพ และ Moody’s ก็ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่ Baa1 (เทียบเท่า BBB+)
และคงมุมมองในระดับมีเสถียรภาพ โดย Moody’s เชื่อมั่นว่า ในระยะปานกลาง รัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ และ สามารถดำเนินนโยบายการคลังแบบระมัดระวังเพิ่มขึ้นได้ (Conservative Fiscal Policy) รัฐบาลไทยยังมีสถานะในการชำระหนี้ที่แข็งแกร่ง (Strong Debt Affordability)
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยต่ำกว่าเป้าหมายมาก ศักยภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันถดถอยในภาคส่งออก ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวไม่เพียงพอต่อการชดเชยการติดลบของภาคส่งออก การก่อหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีความสำคัญ
แต่การก่อหนี้ในภาวะเศรษฐกิจโตต่ำอันเป็นผลจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง จึงต้องก่อหนี้เพื่อลงทุปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านการลงทุนเพื่อรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นระยะยาวและระยะปานกลาง การผลักดันการเลื่อนชั้นรายได้แรงงานในระบบให้เป็นฐานภาษีเพิ่มขึ้นของรัฐเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ