ยักษ์จีน “ไชน่า ฮาร์เบอร์”ชิง”แลนด์บริดจ์ “ยกโครงการ ชูต่างชาติถือลงทุน 51%

05 มิ.ย. 2567 | 00:14 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2567 | 02:06 น.

ทุนไทย-เทศชิงเค้กแลนด์บริดจ์ ทุนจีน“ไชน่า ฮาร์เบอร์” ประกาศชัดร่วมประมูลทั้งโครงการ ไต้หวัน สนแต่ ขอรายละเอียดเพิ่ม ด้าน WHA พร้อม ลงทุน คมนาคมเร่งกม. SEC ชงครม.ไฟเขียวก.ย.นี้ เปิดประมูลปลายปี 68 เงื่อนไข ให้สิทธิต่างชาติครองสัดส่วนลงทุนได้กว่า 51% สัมปทาน 50 ปี

โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามันหรือ แลนด์บริดจ์ มูลค่า1ล้านล้านบาท หนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมที่รัฐบาล “เศรษฐา” ให้ความสำคัญมีหมุดหมายเดินสายโรดโชว์ ดึงนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนไทยศักยภาพสูง เข้าลงทุน

 

ล่าสุด มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติกว่า100 ราย ร่วมประชุมทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ตามคำเชิญของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สร้างความคึกคัก อย่างมากโดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่จากจีน และไต้หวันประกาศจุดยืน พร้อมเข้าร่วมประมูล แม้ยังห่วงขนาดท่าเรือต่างกันหวั่นกระทบปริมาณตู้สินค้า

 

ยักษ์จีนไชน่า ฮาร์เบอร์ -อินเตอร์เอเชีย ไลน์ทุนไต้หวัน สนประมูล

แหล่งข่าวจากบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือรายใหญ่ เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ยังอยู่ในกระบวนการหลายขั้นตอน บริษัทยืนยันมีความสนใจเข้าร่วม ทั้งโครงการ หากมีการเปิดประมูลเอกชนร่วมลงทุน ส่วนความกังวลกรณีที่มีการเวนคืนที่ดินและส่งมอบที่ดินให้แก่ภาคเอกชนเมื่อมีการเปิดประมูลนั้น มองว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

เช่นเดียวกับ ผู้แทนจากบริษัทอินเตอร์เอเชีย ไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด สะท้อนว่า บริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับขนส่งตู้สินค้าทางเรือของสัญชาติไต้หวัน ซึ่งทางบริษัทมีความกังวลเกี่ยวกับรูปแบบ One port to side ของโครงการแลนด์บริดจ์ ว่าสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ เนื่องจากขนาดของท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนองทั้ง 2 ฝั่งมีความต่างกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งตู้สินค้าได้

อีกทั้งในการเปิดรับฟังความคิดเห็นนั้นได้มีการนำเสนอว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนและลดระยะเวลาการเดินทางขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกายังไม่ได้รับความชัดเจน เพราะหากไม่สามารถดำเนินการได้จะทำให้เส้นทางนี้มีระยะทางไกลกว่าช่องแคบมะละกา

“เราเป็นบริษัทสัญชาติไต้หวัน ในส่วนการร่วมลงทุนบริษัทมีสาขาในกรุงเทพฯ หากมีการเปิดประมูลโครงการฯ คงต้องใช้ระยะเวลานานในการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมร่วมกัน ส่วนการเวนคืนที่ดินและการส่งมอบที่ดินให้เอกชนยืนยันว่าไม่มีความกังวล เพราะเป็นโปรเจ็กต์ของภาครัฐที่มีการเดินหน้าต่อเนื่องเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอะไร”

แหล่งข่าวจากบริษัทอินเตอร์เอเชีย ไลน์ฯ กล่าวต่อว่า หากบริษัทมีการร่วมทุนในโครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยเพิ่มศักยภาพการขนส่งตู้สินค้า ปัจจุบันบริษัทมีการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาค่อนข้างมาก หากโครงการนี้สามารถร่นระยะเวลาการเดินทางและช่วยลดต้นทุนได้จะทำให้ตัวเลขผู้ใช้บริการขนส่งตู้สินค้ากับบริษัทเพิ่มขึ้น

“WHA”ชิงเค้กแลนด์บริดจ์

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอซเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยว่า WHA ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประมูลงานในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของบริษัทในครั้งนี้ด้วยเช่นกันจากการที่ภาครัฐเดินทางไปให้ข้อมูลกับภาคเอกชนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เป็นการปูพื้นฐานสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนยังไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากว่าภาครัฐสามารถเดินหน้า “โครงการแลนด์บริดจ์” ให้สำเร็จได้จะช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้อย่างมหาศาล โดยหัวใจหลักๆ ของการลงทุน คือ พื้นที่รองรับฐานการผลิต ระบบสาธารณูปโภค และระบบการขนส่ง (โลจิสติกส์)

 

หากว่าการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้น จะต้องมีการจับมือกับพันธมิตรใหม่เข้ามาเพิ่มหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าปัจจุบันบริษัทยังคงมีศักยภาพที่ดี มีการเงินที่แข็งแกร่ง ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็มี เพราะเป็นเรื่องที่มีการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวอยู่แล้ว พาร์ทเนอร์เดิม ที่มีก็พร้อมเข้ามาช่วยสนับสนุน สำหรับ WHA นั้น มองว่าฐานการเงินค่อนข้างแข็งแกร่ง และมีความพร้อมในการลงทุน จากนี้คงต้องขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐจะเคาะข้อสรุปที่ชัดเจนได้เมื่อใด

ในขณะที่ด้านระบบการขนส่ง (โลจิสติกส์) เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่บริษัทมีความสนใจเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลงทุนและพัฒนา เพราะเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามที่จะผลักดันให้ไทยได้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistics Hub) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาโดยตลอด ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความต้องการใช้ตั้งแต่คลังสินค้า ระบบบริหารจัดการคลังสินค้า ระบบการขนส่งทั้งทางบก ทางนํ้า และทางอากาศ ก็เพิ่มสูขึ้นตามไปด้วย สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรม

คมนาคมมั่นใจนักลงต่างชาติสนใจ

 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจาก Market Soundingสนข. และที่ปรึกษาโครงการฯ จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นำไปปรับปรุงให้ผลการศึกษามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ได้รูปแบบปัจจัยความเป็นไปได้ เงื่อนไข สิทธิประโยชน์ที่ภาคเอกชนให้ความสนใจในการลงทุน สามารถปฏิบัติได้จริงและเป็นรูปธรรม โดยภาครัฐได้ผลประโยชน์ที่เหมาะสมคุ้มค่ามากที่สุด

สำหรับการเปิดรับฟังความเห็นในครั้งนี้พบว่ามีนักลงทุนกลุ่มสายการเดินเรือ,กลุ่มบริหารท่าเรือ, กลุ่มการก่อสร้าง ฯลฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจกว่า 100 คน เช่น บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น, บมจ.ดับลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์,บริษัทเอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย ) จำกัด,บริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด , บจ.โอโอซีแอล โลจิสติคส์ (ประเทศไทย), บจ.เอสไอทีซี คอนเทนเนอร์ ไลนส์ (ประเทศไทย), บจ.เค ไลน์ (ประเทศไทย) ,บจ.อินเตอร์เอเชียไลน์ (ประเทศไทย) , China energy international group ,Nippon Koei Co,Ltd.(Japan) ,Mitsubishi Company (Thailand), Bank of China, Embassy of India,Jica Thailand Office ฯลฯ

โดยการโรดโชว์ในต่างประเทศได้การตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดยมีการดึงภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมลงทุน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป,สาธารณรัฐประชาชนจีน, ประเทศญี่ปุ่น และประเทศฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง เบื้องต้นกระทรวงจะเร่งรัดออกกฎหมายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ โดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนก.ย.นี้ ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ดันพ.ร.บ.SEC ต่างชาติถือสัดส่วนลงทุนได้กว่า 51%

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสนข. กล่าวว่า ในร่างพ.ร.บ.SEC จะมีสิทธิประโยชน์คล้ายกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.) อีอีซี เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี,สัดส่วนการลงทุน โดยให้นักลงทุนต่างชาติสามารถครองสัดส่วนการลงทุนได้กว่า 51% ฯลฯ ขณะความคืบหน้าการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่ผ่านมาติดปัญหาเรื่องการเข้าพื้นที่ เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการขอใบอนุญาตเข้าพื้นที่ ปัจจุบันได้มีการลงพื้นที่สำรวจแล้ว คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปี 2567 หลังจากนั้นจะเสนอไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 คาดว่าจะเสร็จพร้อมๆ กับการจัดตั้งพ.ร.บ. SEC ในช่วงปลายปี 2568

               นายปัญญา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2568 สนข.เตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดโครงการฯ เพื่อประกวดราคาในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะดำเนินการเปิดประมูลได้ภายในปลายปี 2568

แลนด์บริดจ์เดินหน้า