นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาความเหมาะสมออกแบบเบื้องต้นประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้แล้ว เบื้องต้น สนข. และที่ปรึกษาโครงการฯ จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นำไปปรับปรุงให้ผลการศึกษามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ได้รูปแบบปัจจัยความเป็นไปได้ เงื่อนไข สิทธิประโยชน์ที่ภาคเอกชนให้ความสนใจในการลงทุน สามารถปฏิบัติได้จริง และเป็นรูปธรรม โดยภาครัฐได้ผลประโยชน์ที่เหมาะสมคุ้มค่ามากที่สุด
นางมนพร กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาจากการโรดโชว์ในต่างประเทศได้การตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดยมีการดึงภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมลงทุน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ,สหภาพยุโรป,สาธารณรัฐประชาชนจีน, ประเทศญี่ปุ่น และประเทศฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง เบื้องต้นกระทรวงจะเร่งรัดออกกฎหมายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ปัจจุบันสนข.ได้เสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมาที่กระทรวงแล้ว หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนก.ย.นี้ ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
"หากกระบวนการเสนอต่อสภาฯพิจารณาร่างพ.ร.บ.SEC มีความล่าช้า จะดำเนินการอย่างไรนั้น ในปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่อยู่ในการพิจารณาของสภาฯ เบื้องต้นจะมีการจัดลำดับความสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าไปอยู่ในนั้นด้วย เนื่องจากเป็นร่างพ.ร.บ.SEC ที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ"
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ทั้งนี้ในร่างพ.ร.บ.SEC จะมีสิทธิประโยชน์คล้ายกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.) อีอีซี เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี,สัดส่วนการลงทุน โดยให้นักลงทุนต่างชาติสามารถครองสัดส่วนการลงทุนได้กว่า 51% ฯลฯ
ขณะที่ความคืบหน้าการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่ผ่านมาติดปัญหาเรื่องการเข้าพื้นที่ เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการขอใบอนุญาตเข้าพื้นที่ ปัจจุบันได้มีการลงพื้นที่สำรวจแล้ว คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปี 67
นายปัญญา กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 68 สนข.เตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดโครงการฯ เพื่อประกวดราคาในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะดำเนินการเปิดประมูลได้ภายในปลายปี 68
อย่างไรก็ดีการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 6 ล้านทีอียู เปิดให้บริการภายในปี 73 ระยะที่ 2 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 6 ล้านตู้ทีอียู เปิดให้บริการปี 82 และระยะที่ 3 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 8 ล้านตู้ทีอียู โดยการเปิดให้บริการระยะนี้จะต้องรอดูการเริ่มดำเนินการก่อสร้างทั้ง 2 ระยะก่อน ส่งผลให้ทั้งโครงการฯสามารถรองรับปริมาณได้ทั้งหมดฝั่งละ 20 ล้านตู้ทีอียู
สำหรับการเปิดรับฟังความเห็นในครั้งนี้พบว่ามีนักลงทุนกลุ่มสายการเดินเรือ,กลุ่มบริหารท่าเรือ ,กลุ่มการก่อสร้าง ฯลฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจกว่า 100 คน เช่น บริษัทดับลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่งจำกัด ,บริษัทเอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย ) จำกัด,บริษัทสยามพิวรรธน์จำกัด ,บมจ.ธนาคารกรุงไทย ,China energy international group ,Nippon Koei Co,Ltd.(Japan) ,Mitsubishi Company (Thailand),Bank of China,Embassy of India,Jica Thailand Office ฯลฯ
ส่วนรายละเอียดรูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ จะให้สิทธิผู้สนใจลงทุนมีสิทธิประมูลโครงการเป็น Single Package ในระยะเวลา 50 ปี ได้แก่ ท่าเรือ 2 แห่ง (ท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนอง) โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมทั้งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม แต่สามารถร่วมกันลงทุนได้ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือการร่วมกันในลักษณะกลุ่มบริษัท (Consortium)
ด้านรูปแบบการลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในการให้สิทธิประโยชน์ แก่ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่และการเวนคืนให้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ท่าเรือ เส้นทางเชื่อมโยงต่าง ๆ โดยภาคเอกชนผู้ลงทุนต้องเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด และดำเนินการบริหารจัดการ
ทั้งนี้พบว่าจากการประเมินมูลค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นที่ผู้ลงทุนต้องใช้ในการพัฒนาโครงการ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1.001 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง ประมาณ 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร ประมาณ 305,666 ล้านบาท
นอกจากนี้โครงการแลนด์บริดจ์มีโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมประมาณ 358,517 ล้านบาท (เป็นราคาประเมิน ณ ปี พ.ศ. 2566 โดยไม่ได้รวมเงินเฟ้อ) ซึ่งจากการประเมินอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการในเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% (กรณียังไม่มีการกู้ยืม) โดยมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 แสดงให้เห็นว่าโครงการมีความคุ้มค่ากับการลงทุน