WHA โชว์ศักยภาพชิงเค้กแลนด์บริดจ์ อวดการเงินแกร่งพร้อมลุยลงทุน

04 มิ.ย. 2567 | 23:00 น.

WHA โชว์ศักยภาพความเป็นผู้นำโลจิสติกส์ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งชิงเค้กลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ อวดฐานทุนแข็งแกร่ง เนื้อหอมต่างชาติจีบซื้อที่ดิน ตุนแบ็กล็อกหนา 1.1 พันไร่ และมี MOU อีกกว่า 715 ไร่

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอซเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยว่า ประเด็นการเดินหน้าลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ของภาครัฐนั้น ทาง WHA ก็มีความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประมูลงานในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของบริษัทในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

มองว่าจากการที่ภาครัฐเดินทางไปให้ข้อมูลกับภาคเอกชนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เป็นการปูพื้นฐานสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนยังไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากว่าภาครัฐสามารถเดินหน้า "โครงการแลนด์บริดจ์" ให้สำเร็จได้ ก็จะช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้อย่างมหาศาล โดยหัวใจหลักๆ ของการลงทุน คือ พื้นที่รองรับฐานการผลิต ระบบสาธารณูปโภค และระบบการขนส่ง (โลจิสติกส์)

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดในการดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ คือ ความพร้อมในด้านพื้นที่ของภาคเอกชนว่าเพียงพอรองรับการย้ายฐานทุน หรือฐานการผลิตของนักลงทุนต่างประเทศได้มากพอแล้วหรือไม่ ซึ่งจุดนี้มองว่าทาง WHA ค่อนข้างมีความพร้อม เพราะในปัจจุบันพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยของบริษัทที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ มีพื้นที่รวมกันมากกว่า 40,000-50,000 ไร่ และมีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการในประเทศไทยอีก จำนวน 12 แห่ง

อีกทั้งบริษัทยังมีวางแผนลงทุนพัฒนาโครงการนิคมฯ ใหม่ และขยายนิคมฯ เดิมที่มีอยู่แล้ว รวม 7 โครงการ บนพื้นที่รวมเกือบ 10,000 ไร่ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2568-2570) ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีพื้นที่นิคมฯ รวมกว่า 52,000 ไร่ ในปี 2570 สำหรับโครงการนิคมฯ แห่งใหม่ล่าสุด ได้แก่ โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 5 ขนาดพื้นที่กว่า 3,400 ไร่ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในสิ้นปี 2567 นี้

โดยส่วนสำคัญในลำดับถัดมา คือ ระบบสาธารณูปโภคมีความพร้อมมากแค่ เพราะการย้านฐานการผลิตเข้ามาตั้งยังประเทศไทย แน่นอนสิ่งที่ตามมา คือ ความต้องการใช้สาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้นทั้งน้ำและไฟฟ้า และต้องมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในจุดนี้เองก็มองว่า WHA นั้นค่อนข้างมีข้อได้เปรียบ เนื่องจากมีการลงทุนอยู่แล้วและสามารถสร้างผลตอบแทนในระดับที่ค่อนข้างดีให้กับบริษัทมาโดยตลอด

หากว่าการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้น จะต้องมีการจับมือกับพันธมิตรใหม่เข้ามาเพิ่มหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าปัจจุบันบริษัทยังคงมีศักยภาพที่ดี มีการเงินทที่แข็งแกร่ง ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็มี เพราะเป็นเรื่องที่มีการลงทุนในธุนกิจดังกล่าวอยู่แล้ว พาร์ทเนอร์เดิมที่มีก็พร้อมเข้ามาช่วยสนับสนุน สำหรับ WHA นั้น มองว่าฐานการเงินค่อนข้างแข็งแกร่ง และมีความพร้อมในการลงทุน จากนี้คง้องขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐจะเคาะข้อสรุปที่ชัดเจนได้เมื่อไหร่

ด้านระบบการขนส่ง (โลจิสติกส์) ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่บริษัทมีความสนใจเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลงทุนและพัฒนา เพราะเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามที่จะผลักดันให้ไทยได้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistics Hub) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาโดยตลอด ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลไป ทำให้ความต้องการใช้ตั้งแต่คลังสินค้า ระบบบริหารจัดการคลังสินค้า ระบบการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ก็เพิ่มสูขึ้นตามไปด้วย สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรม

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรอยู่ที่ระดับ 3,757.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับในปีก่อน และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 1,364.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 161.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยมี กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ระดับ 2,213.41 ล้านบาท ขณะที่รวมสินทรัพย์ ณ สิ้นไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ระดับ 97,608.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 88,913.77 ล้านบาท และ P/E อยู่ที่ระดับ 15.46 เท่า ลดลงจากสิ้นปี 2566 ที่ระดับ 16.32 เท่า

หลักๆ เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจทั้ง 4 แกนหลัก ทั้งนิคมอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ สาธารณูปโภค และ ดิจิทัล ที่มีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง เช่น ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมไตรมาส 1/2567 บริษัทมียอดการโอนที่ดินสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอานิสงส์จากการย้ายฐานการลงทุนและการผลิตมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง

โดยไตรมาส 1/2567 บริษัทมียอดขายที่ดินรวม 629 ไร่ แบ่งออกเป็นยอดขายที่ดินนิคมฯ ในไทย จำนวน 575 ไร่ และยอดขายที่ดินนิคมฯ ในเวียดนาม 55 ไร่เป็นต้น อีกทั้งตอนนี้บริษัทมียอดขายรอโอนกรรสิทธิ์ในมืออีกกว่า 1,100 ไร่ รวมถึงมียอดลงนาม (MOU) ในมือรวม 715 ไร่ แบ่งเป็นในไทย จำนวน 669 ไร่ และเวียดนาม จำนวน 46 ไร่

ด้านธุรกิจโลจิสติกส์ ในไตรมาส 1/2567 มีการลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/คลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่ม รวม 29,623 ตารางเมตร และมีสัญญาเช่าระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูง จำนวน 33,455 ตารางเมตร ทำให้บริษัทมีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารรวม 2,960,056 ตารางเมตร เป็นต้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังคงมีลูกค้าทั้งรายเดิมที่มีความต้องการขยายพื้นที่เช่าเพิ่ม และรายใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ที่จะเข้าเช่าพื้นที่คลังสินค้าของบริษัทเพิ่มเติม ทำให้มองว่าในช่วงไตรมาสที่ 2-4/2567 จะเห็นผลการดำเนินานมีการเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) ภาพรวมผลประกอบการธุรกิจน้ำปรับตัวดีต่อเนื่อง ทำให้บริษัทรับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทร่วมในธุรกิจสาธารณูปโภค ในไตรมาส 1/2567 ที่ 771 ล้านบาท โดยมีปริมาณยอดขายและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม 40.3 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นปริมาณการจำหน่ายน้ำภายในประเทศ จำนวน 32.2 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจากการเติบโตขึ้นของปริมาณยอดจำหน่ายน้ำทุกผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม และน้ำดิบที่มีความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้ากลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี

อีกทั้ง บริษัทได้ลงนามในสัญญาการให้บริการน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) ปริมาณการผลิต 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ให้กับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงเดือนกันยายนนี้

ในส่วนปริมาณยอดขายและบริหารน้ำในประเทศเวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1/2567 บริษัทมียอดจำหน่ายน้ำรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 8.2 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจากปริมาณยอดขาย และการบริหารน้ำของโครงการ Duong River ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการขยายพื้นที่การให้บริการและปริมาณความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นของกลุ่มลูกค้าเดิมและกลุ่มลูกค้าใหม่

ด้านธุรกิจไฟฟ้า ในไตรมาส 1/2567 บริษัทรับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร/ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนและรายได้จากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ที่ 352 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าโดยรวมเพิ่มขึ้น จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรของกลุ่มโรงไฟฟ้า GHECO-One ที่เพิ่มขึ้นจากการหยุดซ่อมบำรุงลดลง ประกอบกับส่วนแบ่งกำไรจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPPs ที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน 

สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในไตรมาส 1/2567 บริษัทได้ลงนามในสัญญาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มอีก 16 สัญญา โดยแบ่งเป็นโครงการ Private PPA 15 สัญญา มีกำลังการผลิตประมาณ 59 เมกะวัตต์ และโครงการ EPC Service 1 สัญญา กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 มีการเซ็นสัญญาโครงการ Private PPA สะสมรวม 242 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์รวม 125 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ราว 792 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม โครงการที่บริษัทได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในการได้สิทธิ์เป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed in Tariff (FiT) เฟส 1 จำนวน 5 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 125.4 เมกะวัตต์ บริษัทคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ภายในไตรมาส 2/2567