รายได้เฉลี่ยครัวเรือน เด็กยากจนไทย 2566 ต่ำเกณฑ์โลก เหลือ 34 บาท/วัน

06 มิ.ย. 2567 | 23:05 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2567 | 01:18 น.

น่าห่วง! กสศ. เปิดข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566 พบรายได้เฉลี่ยครัวเรือนนักเรียนยากจนไทย ต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจนโลก เหลือ 34 บาท/วัน เสี่ยงเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนจบ ม.3

KEY

POINTS

  • กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566 พบหลายปัญหาน่าเป็นห่วงกระทบต่อนักเรียนไทย
  • พบข้อมูลสำคัญ รายได้เฉลี่ยครัวเรือนยากจนไทย ต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจนโลก เหลือ 34 บาท/วัน เสี่ยงเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา
  • นักเรียนยากจนพิเศษยังคงกระจุกตัวในพื้นที่ห่างไกล โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีสัดส่วนนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุดถึง 54.99% เป็นอันดับหนึ่ง
  • สถานการณ์การหลุดออกนอกระบบการศึกษาของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ ยังอยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะช่วงรอยต่อมต้น-ม.ปลาย
     

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ออกรายงานประจำปี 2566 โดยมีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2566 พบว่า ภาวะการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทยปี 2566 ฟื้นตัวจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้การเปิดภาคเรียนประจำปีการศึกษา 2566 จะเป็นไปตามปกติแต่การฟื้นตัว ยังอยู่ในสภาพค่อยเป็นค่อยไปและไม่ทั่วถึง

ทั้งนี้เนื่องจาก “ครัวเรือนกลุ่มยากจนพิเศษ” ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอัตราที่รุนแรงกว่า และเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่หลากหลายมากกว่า ทั้ง ภาวะการจ้างงาน ภาวะภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ภาคการเกษตร ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่เพิ่มหนี้ครัวเรือน 

ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงยังคงปรากฏในหลายมิติ ทั้ง นักเรียนยากจนมีจำนวนมากและกระจุกตัวในพื้นที่ห่างไกล, ปัญหาช่วงชั้นรอยต่อ เป็นช่วงวิกฤติที่เด็กยากจนหลุดออกนอกระบบการศึกษา, ความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์การเรียนรู้ เนื่องด้วยฐานะนักเรียนและคุณภาพโรงเรียนที่แตกต่าง และปัญหาบริบทแวดล้อมทางครอบครัวและสังคมอิทธิพลสำคัญต่อการศึกษาเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ภาพประกอบข่าว ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

นักเรียนยากจนพิเศษกระจุกตัวพื้นที่ห่างไกล

ขณะเดียวกันนักเรียนยากจนพิเศษยังคงกระจุกตัวในพื้นที่ห่างไกล จากข้อมูลในระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษา (ISEE) ภาคเรียนที่ 2/2565 แสดงให้เห็นว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีสัดส่วนนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุดถึง 54.99% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดในจังหวัด ซึ่งเป็นการครองอันดับหนึ่งในสถิติดังกล่าวยาวนานมาตั้งแต่ ปี 2561 และมีจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งของนักเรียนในจังหวัดมาโดยตลอด

โดยพบการกระจุกตัวของนักเรียนยากจนพิเศษรุนแรงที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรยากจนอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศ โดยจังหวัดที่มีการกระจุกตัวสูงของนักเรียนยากจนพิเศษ ได้แก่ 

  • นครพนม 45.21%
  • อำนาจเจริญ 44.90%
  • กาฬสินธุ์ 43.25%
  • ยโสธร 41.94%
  • ร้อยเอ็ด 41.74%
  • มุกดาหาร 41.35%
  • ศรีสะเกษ 40.17%
  • สกลนคร 37.87%
  • มหาสารคาม 37.78%

ทั้งนี้หลายจังหวัดยังไม่สามารถแก้ปัญหาและติดกับดักสถานการณ์นี้มานานหลายปี อย่างไรก็ตาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษที่ดีขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา (2564-2565)

 

ภาพประกอบข่าว ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2566

รายได้ครัวเรือน ต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจนโลก

สำหรับภาพรวมจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษยังคงมากกว่าช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามข้อมูลรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนยากจนพิเศษ ปรับลดลงต่อเนื่องจาก 1,077 บาท ในปี 2563 เหลือเพียง 1,039 บาท ในปี 2566 หรือ 34 บาทต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจนนานาชาติที่ ธนาคารโลก ได้ประเมินไว้ (80 บาทต่อวัน) ทำให้กลุ่มนักเรียนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนจบการศึกษาภาคบังคับ หรือมัธยมศึกษาปีที่ 3

 

รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนยากจนพิเศษ 2566

 

เฝ้าระวังเด็กการหลุดออกนอกระบบการศึกษา

อย่างไรก็ตามในปีการศึกษา 2566 สถานการณ์การหลุดออกนอกระบบการศึกษาของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ ยังอยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะช่วงรอยต่อระหว่างชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นกับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เนื่องจากเป็นช่วงที่นักเรียนหลายคนต้องสมัครและสอบเพื่อเรียนต่อในสถานศึกษาแห่งใหม่ ซึ่งทางเลือกของสถานศึกษากระจุกตัวในเมืองหรือจังหวัดที่มีค่าครองชีพสูง 

ดังนั้นนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษส่วนใหญ่ที่ต้องการเรียนต่อ จึงต้องย้ายออกจากภูมิลำเนาหรือมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อเข้าเรียนมากขึ้น โดยจากการติดตามเส้นทางการศึกษาของนักเรียนยากจน และยากจน พิเศษที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2562 พบว่า 

  • 20% ของนักเรียนกลุ่มดังกล่าวตัดสินใจไม่ศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือ ปวช. 
  • 67.54% ไม่ได้เรียนต่อจนถึงระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า 
  • 12.46% เท่านั้นที่ได้เข้าเรียนต่อ ในระดับอุดมศึกษา 

ทั้งนี้ถือเป็นอัตราการเรียนถึงระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนทั้งประเทศถึง 3 เท่า และ ต่ำกว่าอัตราการเรียนต่อของนักเรียนร่ำรวยที่สุด 10% ของประชากรทั้งหมดถึง 5 เท่า นี่คือหนึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางโอกาสการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กต่างเศรษฐฐานะ

 

ภาพประกอบการศึกษาของเด็กไทยในปี 2566

 

“ทุนทรัพย์” สาเหตุหลักเด็กยากจนเลิกเรียน

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า “ทุนทรัพย์” ยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักเรียนจากครัวเรือนยากจนตัดสินใจไม่ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยเกิดจากหลายปัจจัยประกอบกันดังนี้

1.หนี้ครัวเรือนเรื้อรัง 

ส่วนใหญ่ครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษ จะเป็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน และทำการเกษตร เป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐานเพราะครัวเรือนเผชิญกับรายจ่ายที่สูงขึ้น ตามค่าครองชีพหรือระดับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงตลอดปี 2566 

ขณะที่รายได้ครัวเรือนคงที่หรือมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความสามารถของครัวเรือนในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษามีจำกัด และพบว่าครัวเรือนยากจนต้องเผชิญกับต้นทุนด้านการศึกษาที่สูงขึ้น ซึ่งสูงกว่าภาระของครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะร่ำรวยถึง 4 เท่า

2.การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการศึกษาที่มีข้อจำกัด 

เมื่อครัวเรือนยากจนมีทุนทรัพย์ไม่เพียงพอต่อการส่งเสริมการศึกษาของบุตรหลาน แหล่งทุนการศึกษาและแหล่งเงินกู้เพื่อการศึกษาจึงเป็นทางเลือกของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ แต่หลายคนไม่ทราบแหล่งทุน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดความรู้และระบบแนะแนวในสถานศึกษา การเข้าไม่ถึงข้อมูลแหล่งทุนเนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์สื่อสารและอินเทอร์เน็ตที่เอื้ออำนวย ทุนการศึกษาที่จำกัดทั้งจำนวน และสาขาวิชาเรียน 

รวมถึงเงื่อนไขการจ่ายทุนการศึกษาหรือเงินกู้ที่ใช้เวลานานจนไม่ทันกับค่าใช้จ่ายประจำวันที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับการไม่อยากก่อหนี้เพิ่มให้กับครอบครัว โดยมีเพียง 5.14% ของนักเรียนยากจนพิเศษที่ต้องการศึกษา ต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวช. ในจังหวัดนำร่อง ตัดสินใจกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

3.ค่าครองชีพที่สูง 

แม้ว่านักเรียนจะสามารถสมัครและสอบเพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้แล้ว แต่ความ ท้าทายที่ตามมาก็คือการเข้าเรียนอย่างต่อเนื่องและคงอยู่ในระบบจนจบการศึกษา ซึ่งตัวแปรที่สำคัญคือค่าครองชีพ ได้แก่ ค่าอาหารและค่าเดินทางที่ล้วนแล้วแต่ปรับเพิ่มมากกว่า 3% ต่อปี

4.ค่าสมัครสอบและค่ารักษาสิทธิ์ต้นทุนที่เกินกว่ากำลังทรัพย์ของครัวเรือน 

หากพิจารณาข้อมูลการศึกษาต่อ ในระดับอุดมศึกษาผ่านระบบ TCAS จะพบว่า นอกจากการเตรียมตัวและความรู้แล้ว นักเรียนยังต้องเตรียมความพร้อมด้านทุนทรัพย์ให้เพียงพอต่อค่าสอบรายวิชา (ประมาณ 600-1,000 บาท) และค่าสมัครสอบ (100-1,000 บาทต่อรอบ) และหากสอบผ่าน นักเรียนบางรายอาจต้องจ่ายค่าเทอม (ประมาณ 10,000-20,000 บาท) ทันทีเพื่อรักษาสิทธิ์ 

รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ ที่นักเรียนอาจต้องจ่ายในคราวเดียว เช่น ค่าหอพัก ค่าเครื่องแบบ ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่ากิจกรรม โดยรวมคิดเป็นกว่า 12 เท่าของรายได้เฉลี่ยครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษ

อย่างไรก็ตาม กสศ. มองว่า การศึกษาในระบบไม่ใช่คำตอบเดียวของการสร้างโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ รวมถึง การเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนยากจน แต่คือหนึ่งในใบเบิกทางสู่การมีงานทำ และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันการสร้างทางเลือก การเรียนรู้นอกระบบการศึกษาเป็นคำตอบที่มีความสำคัญมากขึ้น ตามความหลากหลายและซับซ้อนของบริบท ปัญหา และข้อจำกัดของปัจเจกบุคคล 

ด้วยเหตุนี้นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการพัฒนาหลักประกัน โอกาสการศึกษาด้วยการให้ทุนหรือการส่งต่อข้อมูลเพื่อให้กลุ่มนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษได้เข้าถึงแหล่งทุนการศึกษาแล้ว กสศ. ก็ได้ทำงานกับภาคีหลายภาคส่วน เพื่อหาต้นแบบการศึกษาทางเลือกให้แก่เยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบ 

โดยเฉพาะการสร้างต้นแบบกลไกการจัดการศึกษาผ่านหลายหน่วยจัดการเรียนรู้ เช่น วิสาหกิจชุมชน ศูนย์ปราชญ์ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานสำหรับการตั้งโจทย์การทำงาน และการสร้างแนวทางยกระดับทักษะของกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น