ปัญหา “ค่าธรรมเนียมการศึกษา” ฝันร้ายผู้ปกครองนโยบาย “เรียนฟรี” ไม่มีจริง

11 พ.ค. 2567 | 00:12 น.

ปัญหา “ค่าธรรมเนียมการศึกษา” หรือ ค่าบำรุงการศึกษา ซึ่งแต่ละโรงเรียนเรียกเก็บในรูปแบบต่าง ๆ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชี้ข้อมูลสำคัญ จุดประเด็นเหลื่อมล้ำกระทบผู้ปกครองนโยบาย “เรียนฟรี” ไม่มีจริง

ค่าธรรมเนียมการศึกษา” หนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับบรรดาพ่อ แม่ ผู้ปกครอง กับรายจ่ายที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพื่อแลกกับการศึกษาของลูก หลานของตัวเอง แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบาย “เรียนฟรี” แต่สุดท้ายหลายครอบครัวกลับต้องมีรายจ่ายยิบย่อยเป็นค่าบำรุงการศึกษา ซึ่งแต่ละโรงเรียนเรียกเก็บในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าห้องเรียนคอมพิวเตอร์ หรือค่าจ้างครูสอนภาษาต่างประเทศ เป็นต้น

ที่ผ่านมามีข้อมูลน่าสนใจของ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงปัญหาเด็กเรียนจบแต่ไม่ได้รับวุฒิการศึกษา เพราะติดหนี้ค่าบำรุงการศึกษา โดยระบุว่า แม้รัฐจะมีนโยบาย “เรียนฟรี 15 ปี” แต่หากมองในเชิงปฏิบัติแล้ว ต้องนิยามว่าเป็นการ “เรียนฟรีทิพย์” นั่นเพราะมีค่าธรรมเนียมการศึกษา หรือ ค่าบำรุงการศึกษา ที่โรงเรียนเรียกเก็บจากผู้ปกครอง

ศ.ดร.สมพงษ์ ขยายความต่อว่า เมื่อไปสู่ระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ก็จะยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มตามมา โดยเฉพาะในช่วงชั้นที่มีเด็กเยาวชนหลุดมากที่สุด คือหลังจบชั้น ม.3 เนื่องจากไม่อาจแบกรับค่าเทอมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องจ่ายเองทั้งหมดในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. ซึ่งตกประมาณ 30,000-70,000 บาทต่อปี

ล่าสุดประเทศไทยมีสถิติเด็กเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงชั้นรอยต่อเพิ่มสูงขึ้นตามระดับการศึกษา ตั้งแต่ช่วงชั้นอนุบาลขึ้นประถมศึกษา 1% ช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 อยู่ที่ 18% และเมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 อันเป็นการสิ้นสุดการศึกษาภาคบังคับ จะมีจำนวนเด็กเยาวชนที่ไปต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือเทียบเท่าได้เพียง 54% 

อีกทั้งหากมองไปที่ระดับสูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน คืออุดมศึกษา จะมีเด็กเยาวชนที่สามารถพาตัวเองไปถึงแค่ 10% จากทั้งเจเนอเรชั่นเท่านั้น โดยเงินที่เด็กต้องจ่ายให้กับโรงเรียนส่วนนี้ เรียกได้ว่าเป็นค่าไถ่วุฒิการศึกษา และนี่เองคือบ่อเกิดของการเรียนฟรีทิพย์จากนโยบายเรียนฟรี 15 ปี

 

ปัญหา “ค่าธรรมเนียมการศึกษา” ฝันร้ายผู้ปกครองนโยบาย “เรียนฟรี” ไม่มีจริง

 

ศ.ดร.สมพงษ์ เสนอว่า กรณีภาครัฐ โดยโรงเรียนต้นทาง ต้องกลับมาทบทวนว่า ทำอย่างไรถึงจะช่วยไม่ให้มีเด็กเยาวชนหลุดจากการศึกษากลางทาง หรือสนับสนุนให้มีการเชื่อมต่อช่วงชั้นทางการศึกษาให้ได้มากที่สุด

โดยเด็กเยาวชนที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีช่องทางเข้าถึงทุนการศึกษา ผ่านการผลักดันของโรงเรียน หรือมีการชี้แหล่งกู้เงินเพื่อการศึกษาที่สนับสนุนโดยรัฐ รวมถึงปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาของการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของผู้เรียน

“สำหรับโรงเรียน การงดเว้นค่าธรรมเนียมหรือค่าบำรุงการศึกษา หลายโรงเรียนพิสูจน์แล้วว่าทำได้ โดยการหยิบยื่นโอกาสนั้นมาพร้อมกับระบบดูแลช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งครูจะเก็บข้อมูลเด็กในทุกมิติผ่านการเยี่ยมบ้าน มีการติดตามสถานการณ์ทั้งด้านการศึกษา สถานะทางเศรษฐกิจ รวมถึงสวัสดิภาพชีวิต พร้อมนำเข้าสู่กระบวนการดูแลช่วยเหลือเป็นรายคน ขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้คือความเป็นไปได้ที่จะช่วยสนับสนุนเด็กที่ขาดความพร้อม ไปจนถึงพิจารณางดเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษาสำหรับเด็กบางคนได้” ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุ

 

ปัญหา “ค่าธรรมเนียมการศึกษา” ฝันร้ายผู้ปกครองนโยบาย “เรียนฟรี” ไม่มีจริง

 

อย่างไรก็ตามในการแก้ไขปัญหาค่าธรรมเนียมการศึกษากำลังมีสัญญาณดีมากขึ้น ภายหลัง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ชี้แจงทำความเข้าใจว่า ตามที่ได้มีระเบียบกำหนดให้โรงเรียนสามารถเก็บเงินบำรุงการศึกษาได้นั้น ในภาวะที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ปกครองประสบปัญหาค้างชำระค่าใช้จ่ายกับทางโรงเรียน 

ล่าสุด สพฐ. จึงได้แจ้งแนวทางการผ่อนปรนช่วยเหลือไปแล้วตามหนังสือที่ ศธ. 14006/ว769 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เรื่องแนวทางการเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษา และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

การดำเนินงานที่ผ่านมา หากมีกรณีนักเรียนที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายกับโรงเรียน ทาง สพฐ. ได้มีการประสานและติดตามเรื่องการพิจารณาผ่อนชำระค่าใช้จ่ายกับทางโรงเรียนได้ โดยคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนพร้อมทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และเห็นแก่ประโยชน์ของนักเรียนเป็นสำคัญ

นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย รองโฆษก สพฐ. แจ้งด้วยว่า หากผู้ปกครองมีความจำเป็นไม่สามารถชำระเงินได้ตามเงื่อนไข ขอให้ประสานขอความช่วยเหลือและผ่อนปรนจากโรงเรียนได้ และ สพฐ. ขอยืนยันว่าเด็กทุกคนที่จบการศึกษาต้องได้รับเอกสารการจบและได้ศึกษาต่อ 

หากผู้ปกครองท่านใดมีความกังวลต่อปัญหาดังกล่าวสามารถติดต่อ ผอ.โรงเรียน โดยตรง หรือติดต่อ สพป. และ สพม. โดยด่วน ด้วยความห่วงใยจากกระทรวงศึกษา และ สพฐ. เพื่อช่วยเเบ่งเบา ลดภาระผู้ปกครอง และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนทุกระดับชั้น พร้อมทั้งให้ สพป. และ สพม. ติดตามกำกับให้ทุกโรงเรียนดำเนินการโดยเร่งด่วนต่อไป