นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จัดงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 5 ปี ทั้งนี้ ขร. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านระบบขนส่งทางราง ได้เดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเดินทางของประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนการขนส่งทางรางให้เป็นระบบขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าหลักของประเทศ ซึ่งจากภาพรวมการขนส่งทางรางของไทยในปีที่ผ่านมา ปริมาณรวมตลอดทั้งปีมีมากถึง 460,826,879 เที่ยว-คน หรือเฉลี่ยมากกว่า 1.2 เที่ยว-ล้านคนต่อวัน
ขณะที่การขนส่งสินค้าทางรางเฉลี่ยต่อปีมีมากถึง 12 ล้านตัน เหตุเพราะมีการพัฒนาเรื่องของโครงข่ายระบบขนส่งทางรางที่เพิ่มขึ้น ทั้งการเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ หรือโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเมื่อโครงข่ายมากขึ้นก็ส่งผลให้มีขบวนรถที่ให้บริการเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ ขร. ได้ผลักดัน “นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยได้ดำเนินการข้ามสาย 2 สายแรก คือ สายสีแดง (รถไฟฟ้าชานเมือง สายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต และ สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน) สายสีม่วง (รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม) จนประสบความสำเร็จ ถือเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงระบบขนส่งทางรางให้ประชาชนทุกคนได้ใช้บริการอย่างเท่าเทียม และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ในส่วนของปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากระบบขนส่งทางราง ทั้งเหตุขัดข้องรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ขร. ได้ดำเนินการหาสาเหตุและเสนอแนวทางการดำเนินการเพื่อป้องกันหรือลดโอกาสการเกิดเหตุขัดข้องให้กับผู้ให้บริการนำไปเป็นมาตรฐานในการดำเนินการ
ด้านปัญหาอุบัติเหตุจุดตัดทางลักผ่านที่ผ่านมา ขร. ดำเนินการปิดจุดตัดทางลักผ่านภายใน 5 เดือนไปแล้วกว่า 92 จุดจากทั้งสิ้น 793 จุด นอกจากนี้ ขร. ยังได้ดำเนินการจัดการข้อร้องเรียนระบบขนส่งทางราง อาทิเช่น ขบวนรถไฟยกเลิกการให้บริการ ขบวนรถไฟล่าช้า การขอคืนเงินจากการยกเลิกการเดินทาง และการให้บริการของเจ้าหน้าที่ โดยดำเนินการจัดการข้อร้องเรียนไปแล้วกว่า 27 เรื่อง ตลอดปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากระบบขนส่งทางราง และเพื่อเป็นการกำกับ ติดตามให้เกิดการบริการระบบขนส่งทางรางที่มีคุณภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด
ขณะเดียวกัน ขร. ได้เร่งรัดผลักดัน พ.ร.บ. การขนส่งทางราง พ.ศ. .... เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางในทุก ๆ ด้านมีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในการเดินทางด้วยระบบราง พร้อมทั้งคุ้มครองให้เกิดการเดินทางที่ปลอดภัย และอัตราค่าโดยสารมีราคาที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว
“ขร. ได้ประสานความร่วมมือ กับนานาประเทศ โดยมีการจัดทำแผนต่างๆ เช่น การเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่าง ไทย - ลาว – จีน เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าที่ปัจจุบันได้มีการส่งออกทุเรียนจากภาคตะวันออกไปยังประเทศจีน ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้ามีทางเลือกในการใช้เส้นทางการขนส่งหลากหลายรูปแบบ สามารถกระจายผลไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าไปยังต่างประเทศได้ตามความต้องการภายในระยะเวลาที่เหมาะสม”
นอกจากนี้ ขร. ยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางราง โดยมีการจัดทำร่างมาตรฐานการขนส่งทางรางที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย จำนวน 24 ฉบับ ทั้งในด้านเครื่องกลและตัวรถขนส่งทางราง ด้านโครงสร้างพื้นฐานและงานโยธา ด้านระบบอาณัติสัญญาณ โดยมาตรฐานเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยในการขนส่งทางรางของไทย และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางรางของประเทศไทยให้เทียบเท่าสากล