นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SUZUKI ประกาศยุติการผลิตที่โรงงานผลิตรถยนต์ของบริษัทในเครือในประเทศไทย โดย บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายในช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2568 ว่า
การตัดสินใจดังกล่าวไม่กระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย เนื่องจากซูซูกิยังมีหน่วยบริการขายในไทยอยู่
รวมถึงศูนย์บริการหลังการขายเหมือนเดิม เช่นเดียวกับรถยนต์แบรนด์อื่นที่มีเพียงหน่วยขายในประเทศไทยแต่ไม่ได้ผลิต เช่น Tesla เป็นต้น
อีกทั้งแผนการยกเลิกผลิตรถยนต์ของซูซูกินั้นจะมีผลปลายปี 2568 ซึ่งต้องมาติดตามในช่วงปี 2569 อีกครั้งว่า ส.อ.ท. จะมีการประกาศยอดผลิตรถยนต์รวมในช่วงนั้นอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะต้องอ้างอิงจากเศรษฐกิจของประเทศ และหนี้ครัวเรือนเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ ยังต้องดูด้วยว่ากลุ่มสินเชื่อเพื่อยานยนต์ (ไฟแนนซ์) ยังปฏิเสธการให้กู้หรือไม่ หากเศรษฐกิจดีขึ้นก็อาจจะลดความกังวลในส่วนนี้และจะสะท้อนไปยังยอดการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นได้
ขณะเดียวกันสัดส่วนการผลิตรถยนต์ของซูซูกิในประเทศไทยก็ถือว่ายังน้อยอยู่หากเทียบกับภาพรวมทั้งหมด
และมองว่าอาจจะมีคุ้มค่าน้อยกว่าการนำเข้าจากหน่วยผลิตอื่น ๆ อย่างเช่นในญี่ปุ่น และอิเดีย ที่มีสัดส่วนการผลิตสูงมากกว่าในไทย
“ซูซูกิถือเป็นผู้นำในการผลิตรถเล็ก หรืออีโคคาร์ มีความเก่งในเรื่องดังกล่าวนี้ และการยุติโรงงานผลิตในประเทศไทยนั้นก็ไม่ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นหรือภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ เพราะนักลงทุนรับรู้เรื่องนี้ดีว่าหากผลิตได้น้อยก็จะไม่คุ้ม เนื่องจากต้นทุนต่าง ๆ ก็จะสูงกว่าเป็นปกติ สู้วิธีการนำเข้ามาจากโรงงานที่ผลิตเยอะ และได้ต้นทุนต่ำดีกว่า"
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับประเทศจีน ที่แต่ละปีมีการผลิตรถยนต์หลายสิบล้านคัน ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าการไปตั้งโรงงานผลิตในแหล่งอื่น ซึ่งซูซูกิเองก็ยังมีหน่วยผลิตที่ใหญ่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นเนื่องจากได้รับความนิยมอย่างมาก