นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ เพื่อพิจารณาแนวทางการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) ของประเทศไทย ว่า ได้มอบนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการกำกับราคาน้ำมันให้มีความเป็นธรรมและป้องกันการค้ากำไรเกินควร
โดยในแนวทางนี้รัฐจะเป็นผู้กำหนดราคากลาง หรือ Benchmark ในขณะที่ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องนำหลักฐานต่าง ๆ มาพิสูจน์ต้นทุนที่แท้จริง ทั้งหลักฐานที่กรมศุลกากร หลักฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลักฐานที่ธนาคารพาณิชย์
รวมถึงหลักฐานที่แสดงต่อกรมสรรพากร เพื่อขอรับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในกรณีที่ขาดทุนจากจำหน่ายตามราคาที่รัฐกำหนด
"ที่ผ่านมาต้องรอข้อมูลจากผู้ค้าฯ แต่ต่อไปผู้ค้าฯ ต้องมาพิสูจน์ว่าขาดทุนตรงไหน อย่างไร พร้อมหลักฐานที่จะต้องตรงกันหมด ทั้งที่กรมศุลกากร ธปท. ธนาคารพาณิชย์ และหลักฐานที่แสดงต่อกรมสรรพากรต้องตรงกันหมด ถ้าไม่ตรงก็ถือว่ามีปัญหา ก็ไม่ผ่าน"
ทั้งนี้ หากไม่ผ่านก็ใช้ราคาหลวง เช่น คํานวณ benchmark ที่ 84 เหรียญ ถ้าจะให้รัฐชดเชย ก็ต้องมาว่าพิสูจน์ว่า เหตุใดราคาถึงสูงกว่าราคาตลาดโลก หากพิสูจน์ได้ ก็ได้รับชดเชย แต่หากพิสูจน์ไม่ได้ หรือไม่พิสูจน์ บอกว่าเป็นความลับ ก็เจ๊ากันไป ไม่ได้รับชดเชย เท่านั้นเอง จะต้องเป็นระบบแบบนี้
สำหรับความคืบหน้าของการจัดตั้งระบบ SPR นั้น ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องผลการศึกษาการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศและประเทศไทย การศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ของการจัดตั้งระบบ SPR ในประเทศไทย
การกำหนดอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ รวมไปถึงรูปแบบการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง กลไกบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง การนำน้ามันเชื้อเพลิงออกมาใช้ โครงสร้างองค์กรใหม่ การจัดตั้งกองทุน
การบริหารจัดการ การกำกับติดตามและตรวจสอบปริมาณน้ำมันเชื้อพลิงสำรองตามกฎหมาย การดำเนินการในระยะเริ่มต้น การถ่ายโอนภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและร่างกฎหมาย รวมถึงการจัดหาพื้นที่เก็บสำรอง