หน่วยงานด้านน้ำออกมาวิเคราะห์และคาดการณ์ในครึ่งหลังปีนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ส่งผลให้เกิดฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 10% มีถึง 75 จังหวัดหรือเกือบทั้งประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัย หรือน้ำท่วมฉับพลันในครั้งนี้ ผู้คนนึกถึงปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 12 ล้านคน เศรษฐกิจเสียหายกว่า 1.44 ล้านล้านบาท ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทภาคธุรกิจเอกชนได้เตรียมพร้อมแผนรับมือ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และในฐานะนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ล่าสุดโรงงานผู้ผลิตอาหารได้ติดตามสถานการณ์เรื่องสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดเพื่อนำมาประกอบการวางแผนการดำเนิน ธุรกิจ และวางแผนการผลิต เช่น ข้าวโพดหวานต้องติดตามปริมาณน้ำฝน หากเกิดน้ำท่วมในไตรมาสที่ 4 พื้นที่ปลูกในที่ราบติดริมแม่น้ำ ต้องเปลี่ยนแผนย้ายบริเวณปลูก หรือชะลอการปลูกออกไป ส่วนสับปะรดส่วนใหญ่ปลูกบริเวณเชิงเขาคาดจะได้รับผลกระทบน้อย
ขณะเดียวกันหากเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบ จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากไม่สามารถกักตุนวัตถุดิบไว้ได้มาก จะกระทบคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้มีแผนรับมือ โดยต้องหาแหล่งซัพพลายวัตถุดิบสำรองมากขึ้น รวมถึงทดสอบหาวัตถุดิบทดแทนบางชนิด การแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างผู้ประกอบการเพื่อติดตามและรับมือกับสถานการณ์สภาพอากาศ นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยกับลูกค้าถึงพยากรณ์สินค้า และแจ้งถึงสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น
“โรงงานอาหารมีมาตรการและเตรียมแผนรับมือน้ำท่วมอยู่แล้ว ทั้งปีนี้คาดการส่งออกสินค้าอาหารของไทยจะยังเป็นตามเป้าหมาย โดยช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ส่งออกแล้ว 5.4 แสนล้านบาท ขยายตัว 4% ท่ามกลางภาวะการขาดแคลนอาหารทั่วโลก และภาวะสงครามในบางประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นคาดปี 2567 การส่งออกอาหารของไทยจะเติบโต 2-5% หรือมีมูลค่า 1.58-1.62 ล้านล้านบาท”
อย่างไรก็ดียังต้องติดตามสถานการณ์และความท้าทายจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง ต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และการรับมือกับสภาพอากาศทั้งเอลนีโญ และลานีญา
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ขณะนี้มีน้ำจากฝนตกมากขึ้น ส่งผลดีต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร ทำให้มีผลิตเพิ่มขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันหากน้ำมากเกินไป เกิดน้ำท่วมขังผลผลิตจะเสียหาย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อในภาพรวม
“ประเทศไทยเมื่อปี 2554 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ ก็เกิดแผนจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วม ไม่ให้น้ำแล้ง ก็มีการศึกษากันไว้หมดแล้ว รัฐบาลเอาอันนี้มารีวิวง่ายที่สุด ขณะเดียวกันหอการค้ามีอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เรายินดีที่จะร่วมทำงานกับรัฐบาลในการป้องกันและรับมือกับลานีญา ดังนั้นขอให้รัฐบาลใช้เอกชนให้เป็นประโยชน์มากที่สุด”
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาทั่วโลกเผชิญกับสภาพโลกร้อนจนกลายเป็นโลกเดือด มีสภาพความแห้งแล้งไปทั่วโลก แต่เวลานี้จะเปลี่ยนเป็นลานีญาที่จะทำให้มีฝนตกมากอาจกลายเป็นอุทกภัย จะส่งผลกระทบต่อทั้งภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมของไทย ทั้งนี้ไม่อยากให้เกิดภาพซ้ำรอยปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ มีนิคมอุตสาหกรรมถึง 7 แห่ง จมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลาหลายเดือน โรงงานนับพันโรงได้รับผลกระทบ สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์การลงทุนของต่างประเทศ
“เรื่องนี้จะต้องมีการพิจารณาและแก้ไขกันอย่างเป็นระบบต่อไปอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนทั้งระบบ เหมือนในยุคหนึ่งที่เราเกิดน้ำท่วมใหญ่ รัฐบาลได้ตั้งกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาศึกษาในเรื่องนี้ แต่ท้ายสุดก็ล้มไป ซึ่งก็หวังว่ารัฐบาลจะกลับมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอาหารรายสำคัญของโลก นอกจากการป้องกันน้ำท่วมแล้ว จะทำอย่างไรที่จะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งอย่างเพียงพอ แทนที่จะปล่อยให้ไหลลงทะเล70-80%”
ขณะที่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ลานีญาที่อาจทำให้เกิดอุทกภัย สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าว และพืชผักผลไม้ของเกษตรกร ต้องจับตามองว่าปีนี้จะรุนแรงแค่ไหน อย่างไรก็ดีในส่วนของสินค้าข้าวหากผลผลิตลดลงย่อมส่งผลกระทบต่อปริมาณสินค้าที่จะส่งออก แต่ในข้อเท็จจริงน้ำมากดีกว่าน้ำแล้ง เพราะพอหลังน้ำลดเกษตรกรยังเพาะปลูกข้าวได้ คาดปีนี้ผลผลิตจะไม่ลดลงมาก และคาดการณ์ไทยจะส่งออกข้าวได้ปีนี้มากกว่า 8 ล้าน จากคาดการณ์ไว้ต้นปีจะส่งออกได้ 7.5 ล้านตัน จากเวลานี้มีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศเข้ามาต่อเนื่อง