เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 1 ปี 67 อัตราการว่างงานเพิ่ม-เงินเฟ้อชะลอตัว

09 มิ.ย. 2567 | 00:28 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2567 | 01:34 น.

“พาณิชย์” เผย ภาวะเศรษฐกิจและการค้าสหรัฐฯ ช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัว 1.3% ขณะที่อัตราว่างงานเพิ่ม 3.9% มีจำนวนผู้ว่างงานในระบบทั้งหมด 5.6 ล้านคน ด้านเงินเฟ้อชะลอ 3.4%

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก  กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าสหรัฐฯ ประจำเดือนพฤษภาคม 2567 สำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติแท้จริง (Real GDP) สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.3%  โดยแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 เป็นผลมาจากการขยายตัวของการ ใช้จ่ายภาคประชาชน การลงทุนระยะยาวสำหรับที่อยู่อาศัย การลงทุนระยะยาวที่ไม่ใช่สำหรับที่อยู่อาศัย และการใช้จ่ายของภาครัฐท้องถิ่น ในขณะที่การลงทุนคงคลังภาคเอกชน และภาคการนำเข้า ส่วนส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติสหรัฐฯ

ขณะที่อัตราการว่างงาน สำนักงานสถิติแรงงานรายงานอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ประจำเดือนเมษายน 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.9% มีจำนวนผู้ว่างงานในระบบเศรษฐกิจทั้งสิ้น 5.6 ล้านคน โดยในช่วงดังกล่าวสหรัฐฯ มีการจ้างงานนอกภาคการเกษตร เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 175,000 ตำแหน่ง 

  • กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่
  • อุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพ 56,000 ตำแหน่ง
  • อุตสาหกรรมสังคมสงเคราะห์ 31,000 ตำแหน่ง
  • อุตสาหกรรมการขนส่งและคงคลังสินค้า 22,000 ตำแหน่ง
  • อุตสาหกรรมการค้าปลีก 20,000 ตำแหน่ง
  • อุตสาหกรรมก่อสร้าง 9,000 ตำแหน่ง
  • อุตสาหกรรมการจ้างงานภาครัฐ 8,000 ตำแหน่ง

 ส่วนการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และขุดเจาะพลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมค้าส่ง อุตสาหกรรมสารสนเทศ อุตสาหกรรมการเงิน และอุตสาหกรรมเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและการบริการทางธุรกิจ และอุตสาหกรรมบริการอื่น ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

ด้านภาวะเงินเฟ้อ รายงานภาวะเงินเฟ้อสหรัฐฯ ประจำเดือนเมษายน 67 มีการปรับตัวลดลงเหลือ 3.4%  โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาราคาสินค้าไม่ปรับฤดูกาล กลุ่มสินค้าอื่นๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.6% กลุ่มสินค้าพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.6% และกลุ่มสินค้าอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2%  ดังนี้

  • กลุ่มสินค้าอาหาร ได้แก่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3% ผักและผลไม้สด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.7% เนื้อสัตว์และไข่ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1%  ซีเรียลและเบเกอรี่ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% และผลิตภัณฑ์จากนม ปรับตัวลดลง 1.3%
  •  กลุ่มสินค้าพลังงาน ได้แก่ ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.1% น้ำมันเชื้อเพลิง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2% และก๊าซธรรมชาติ ปรับตัวลดลง 1.9%
  • กลุ่มสินค้าและบริการอื่น ได้แก่ บริการขนส่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.2% บุหรี่และยาสูบ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.7% ที่พักอาศัย ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5 วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.5% เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.0% เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ปรับตัวลดลง 0.4% รถยนต์ใหม่ ปรับตัวลดลง 0.4% บัตรโดยสารเครื่องบิน ปรับตัวลดลง 5.8% และรถยนต์มือสอง ปรับตัวลดลง 6.9%

 

ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค รายงานผู้บริโภคชาวอเมริกันมีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 97.5 ในเดือนเมษายน 2567 เป็น 102.0 ในเดือนพฤษภาคม 2567 ดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน ที่วัดแนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานในปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 140.6 ในเดือนเมษายน 2567 เป็น 143.1 ในเดือนพฤษภาคม 2567

และดัชนีความคาดหวังของผู้บริโภค ซึ่งวัดจากมุมมองของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ทางด้านรายได้ การดำเนินกิจการ และการจ้างงานในตลาดแรงงานในระยะสั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 68.8 ในเดือนเมษายน 2567 เป็น 74.6 ในเดือนพฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ ดัชนีความคาดหวังของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 80.0 แสดงให้เห็นถึงสัญญาณความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ภายในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้า

 ปัจจัยด้านสภาวะการจ้างงานในสหรัฐฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีส่วนสำคัญช่วยพะยุงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาด ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีความเชื่อมั่นต่อภาคการจ้างงานและรายได้ในอนาคตดีขึ้น ผู้บริโภคเริ่มมีแผนกลับไปซื้อสินค้าขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ รวมถึงโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมากขึ้นในอนาคต

ภาวะการค้าปลีกของสหรัฐฯ รายงานภาวะการค้าปลีกและ การบริการด้านอาหารประจำเดือนล่วงหน้า  ประจำเดือนเมษายน 2567 สามารถสรุปได้ ดังนี้

  • มูลค่าการค้าปลีกสินค้าและการบริการด้านอาหาร รวม 705,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • มูลค่าการค้าปลีก รวม 611,302 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • มูลค่าการค้าปลีกไม่ผ่านร้านค้า หดตัวลดลง 1.2% เหลือมูลค่า 119,329 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กลุ่มสินค้าและบริการที่มียอดค้าปลีกขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.1% สินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% สินค้าครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8% สินค้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5% และ การบริการร้านอาหารและเครื่องดื่ม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ตามลำดับ

กลุ่มสินค้าและบริการที่มียอดค้าปลีกหดตัวลง ได้แก่ สินค้าอุปกรณ์กีฬา ปรับตัวลดลง 0.9% สินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ปรับตัวลดลง 0.8% สินค้าเพื่อเพื่อสุขภาพและสุขอนามัยส่วนบุคคล ปรับตัวลดลง 0.6% สินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ปรับตัวลดลง 0.5% สินค้าปลีกผ่านช่องทางร้านค้าอื่นๆ ปรับตัวลดลง 0.4% และสินค้าปลีกทั่วไป ปรับตัวลดลง 0.3% ตามลำดับ

ภาวะการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานสถิติสหรัฐฯ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานสถิติดุลการค้า (ส่งออก – นำเข้า) สหรัฐฯ ประจำเดือนมีนาคม 2567 (ข้อมูลล่าสุด) สรุปได้ ดังนี้

  •  สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ในเดือนมีนาคม 2567 รวม 69,372 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 0.12% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567
  • สหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการในเดือนมีนาคม 2567 เป็นมูลค่า 257,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเหลือ 5,307 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 2.02% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แบ่งเป็น

 การส่งออกสินค้า มูลค่า 171,263 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5,123 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 90% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567

 การส่งออกบริการมูลค่า 86,357 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 21% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยกลุ่มสินค้าและบริการที่สหรัฐฯ มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันดิบ

 สหรัฐฯ มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการในเดือนมีนาคม 2567 เป็นมูลค่า 326,992 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5,393 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 1.62% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แบ่งเป็น

  • การนำเข้าสินค้ามูลค่า 263,768 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4,294 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 60% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567
  • การนำเข้าบริการมูลค่า 63,224 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1,099 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 1.71% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ภาวะการค้าระหว่างสหรัฐฯ – ไทย

ในเดือนมีนาคม 2567 สหรัฐฯ และไทยมีมูลค่าการค้าสุทธิทั้งสิ้น 5,061.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ มีดุลการค้า ขาดดุล กับไทยเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3,319.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลง 2.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

 สหรัฐฯ นำเข้าจากไทย มูลค่าทั้งสิ้น 5,061.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยสินค้าหลักนำเข้าจากไทย ได้แก่

  • อุปกรณ์โทรศัพท์ เพิ่มขึ้น 17%
  • เครื่องประมวลผลข้อมูล ลดลง 5.81%
  • ชิ้นส่วนกึ่งตัวนำไฟฟ้า ลดลง 13.09%
  • ยางรถยนต์ เพิ่มขึ้น 21.09%
  • เครื่องจักรไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 280.35%

สหรัฐฯ ส่งออกไปไทย มูลค่าทั้งสิ้น 1,741.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยสินค้าหลักส่งออกไปไทย ได้แก่

  • น้ำมันปิโตรเลียม เพิ่มขึ้น 17.17%
  • วัคซีน เพิ่มขึ้น 1,388.91%
  • แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 15.47%
  • ก๊าซปิโตรเลียม เพิ่มขึ้น 287.09%
  • อุปกรณ์โทรศัพท์ เพิ่มขึ้น 37.17%