”พาณิชย์“ แนะผู้ประกอบการ เร่งเจาะตลาดอินเดีย คาดปี 68 GDP โตอันดับ 4 ของโลก

11 มิ.ย. 2567 | 03:00 น.

”พาณิชย์“ แนะผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์ FTA เร่งเจาะตลาดออนไลน์-ออฟไลน์อินเดีย คาดโตเป็นอันดับ 4 ของโลก ในปี 68

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานถึงเศรษฐกิจและการค้า จากการที่นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดียจากพรรค BJP ชนะการเลือกตั้ง และได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน

ซึ่งอินเดียเป็น 1 ใน 10 ประเทศเป้าหมายสำคัญที่ไทยจะดำเนินการนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ตั้งทีมไทยแลนด์มาบูรณาการทำงานร่วมกัน สร้างโอกาสทางการค้าให้กับประเทศ

นายพูนพงษ์ รายงานว่า ภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อินเดียได้กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในโลกด้วย GDP ที่ขยายตัวถึง 8.2% ในปีงบประมาณ 2566 – 2567 (เมษายน 2566 - มีนาคม 2567) ที่สิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยขยายตัวสูงกว่าที่รัฐบาลอินเดียคาดการณ์ไว้ที่ 7.6% และเมื่อครั้งที่ นเรนทรา โมดี เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2557 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอินเดียในขณะนั้นขยายตัวสูงอยู่ที่ 7.4% เช่นกัน

นอกจากนี้ อินเดียเพิ่งมีการเริ่มใช้นโยบายด้านการค้าต่างประเทศใหม่ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คาดการณ์ว่าทิศทางการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เมื่อเทียบกับสภาวะปัจจุบันและก่อนหน้านี้ของอินเดีย

โดยนโยบายปี 2566 ได้กำหนดแผนงานในการบูรณาการอินเดียเข้ากับตลาดโลก และทำให้อินเดียเป็นประเทศคู่ค้าที่มีความน่าเชื่อถือ และไว้วางใจได้ หรือนโยบายพึ่งพาตนเองของอินเดีย ในการส่งเสริมสินค้าอินเดียในตลาดห่วงโซ่อุปทานโลก ช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายในการพึ่งพาตนเอง พร้อมทั้งเป้าการเป็นศูนย์กลางการส่งออกโลก มุ่งเน้นการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ อาทิ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร โอมาน ศรีลังกา ออสเตรเลีย และเปรู

ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อินเดียได้ลงนามความตกลง FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ 

  • สวิตเซอร์แลนด์
  • นอร์เวย์ 
  • ไอซ์แลนด์ 
  • ลิกเตนสไตน์ 

ซึ่งผลการดำเนินนโยบายการค้าต่างประเทศที่แข็งแกร่งของอินเดียสะท้อนให้เห็นจากตัวเลขการส่งออกของอินเดียที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีงบประมาณ 2566 – 2567 (เมษายน 2566 - มีนาคม 2567) โดยการส่งออกสินค้าและบริการของอินเดียรวมกันมีมูลค่าสูงกว่า 776.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามทิศทางนโยบายการค้าต่างประเทศของอินเดียต่อไป เนื่องจากอินเดียยังคงเป็นตลาดที่น่าจับตามองจากนานาประเทศ จากขนาดตลาดที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกมากกว่า 1,400 ล้านคน ประกอบกับเมื่อเร็ว ๆ นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าอินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลกภายในปี 2568 รองจากสหรัฐฯ จีน และเยอรมนี โดยอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย 10 ประเทศสำคัญที่ไทยจะดำเนินการนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก

ซึ่งเป็นการบูรณาการทำงานระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการเร่งผลักดันการใช้สิทธิ์ภายใต้ความตกลง FTAที่ไทยมีกับอินเดียทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ ไทย-อินเดีย และ อาเซียน-อินเดีย ซึ่งอยู่ระหว่างการยกระดับความตกลงให้มีความทันสมัยและครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ส่งออกและผู้ประกอบการไทย รวมถึงผลักดันสินค้าไทยให้สามารถจำหน่ายบนช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ของอินเดีย

ทั้งนี้ ปี 2566 อินเดียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 11 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 16,044.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 555,217 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.8 ของการค้ารวมของไทยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอินเดีย ได้แก่ 

  • เม็ดพลาสติก 
  • เคมีภัณฑ์ 
  • ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ 
  • อัญมณีและเครื่องประดับ 
  • เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 

สินค้านำเข้าสำคัญจากอินเดีย ได้แก่ 

  • เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ 
  • เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 
  • เคมีภัณฑ์ 
  • พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช
  •  สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์