สหรัฐฯ ปักธงลุย อินโด-แปซิฟิก หนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยั่งยืน 9 แสนล้าน

12 มิ.ย. 2567 | 02:28 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2567 | 01:34 น.

สหรัฐฯ ผนึก 13 ชาติ ผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก IPEF ประกาศสนับสนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยั่งยืน 9 แสนล้าน เน้น 20 เมกะโปรเจ็กต์พร้อมเปิดรับลงทุน มูลค่ากว่า 6 พันล้านดอลลาร์ ไทยได้ส่วนแบ่งโครงการทางหลวงพิเศษ M6 และแยกก๊าซธรรมชาติ

KEY

POINTS

  • การประชุมพันธมิตร IPEF ที่สิงคโปร์ ล่าสุด สร้างความก้าวหน้าผ่านข้อตกลง 3 ฉบับ ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจสะอาด เศรษฐกิจที่เป็นธรรม
  • ประเทศไทยแสดงเจตนารมณ์การพัฒนาพลังงานสะอาดและการบรรลุเป้าหมาย Net Zero
  • สหรัฐฯ ผนึก 13 ชาติ ผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก IPEF หนุนโครงสร้างพื้นฐานยั่งยืน 9 แสนล้าน เน้น 20 เมกะโปรเจ็กต์

กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF ที่นำโดยสหรัฐฯ ถือเป็นความพยายามของ 14 ประเทศสมาชิกในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าและเป็นธรรมมากขึ้น โดยมีประชากรรวมกันราวร้อยละ 60 ของประชากรโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันราวร้อยละ 40 ของ GDP โลก

แม้ IPEF จะไม่ใช่ความตกลงการค้าเสรี แต่เป็นความพยายามในการจัดระเบียบความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญกับการแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน

ล่าสุดประเทศสมาชิกเหล่านี้ได้ประกาศความสำเร็จใหม่ที่สำคัญของข้อตกลง IPEF 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับ ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจสะอาด และ เศรษฐกิจที่เป็นธรรม ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF เเบบตัวต่อตัวครั้งเเรก ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 5-6 มิถุนายน 2567

พันธมิตร IPEF ทั้ง 14 ประเทศ

ประเด็นที่น่าสนใจคือการเปิดตัว IPEF Clean Economy Investor Forum หรือฟอรัมนักลงทุน “เศรษฐกิจสะอาด” ซึ่งมีการรวบรวมนักลงทุนชั้นนำของภูมิภาค องค์กรการกุศล สถาบันการเงิน บริษัทที่มีนวัตกรรม และผู้ประกอบการ เพื่อระดมการลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (Sustainable Infrastructure) และธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Tech ที่สำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero

สหรัฐฯ ปักธงลุย อินโด-แปซิฟิก หนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยั่งยืน 9 แสนล้าน

สหรัฐฯ หนุน IPEF ตั้งแนวร่วมลงทุน 9 แสนล้าน

นางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า Global Infrastructure Partners (GIP) และIndo-Pacific Partnership for Prosperity ได้จัดตั้งแนวร่วมเพื่อลงทุน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 9 แสนล้านบาท ในโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เช่น ศูนย์ข้อมูลสีเขียวในอินโดนีเซีย พลังงานทดแทนในฟิลิปปินส์ และเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าอัจฉริยะและพลังงานหมุนเวียนแบบไฮบริดในอินเดีย

นอกจากนี้ยังคาดหวังว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ฟอรัมดังกล่าวจะนำไปสู่การลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศไทย และมาเลเซีย เหตุผลคือประเทศเหล่านี้ต้องการดึงดูดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศ

นางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลอว์เรนซ์ หว่อง ได้เเสดงให้เห็นว่ากรอบความร่วมมือนี้มีความสำคัญสะท้อนผ่านสุนทรพจน์ โดยมีสาระสำคัญคือ เวียดนาม สิงคโปร์ และสหรัฐฯ จะจัดตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาสายเคเบิลใต้ทะเลภายใต้โครงการ IPEF เพื่อวางรากฐานสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือประเทศต่างๆ ที่มีแหล่งพลังงานหมุนเวียนในการส่งออกส่วนเกินไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ขาดแคลนพลังงาน เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์

ในขณะประเทศไทยและเวียดนาม มีศักยภาพสูงในด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์สามารถเข้าถึงพลังงานลมนอกชายฝั่งและความร้อนใต้พิภพได้ ส่วนประเทศภายนอก IPEF ในอาเซียนอย่างกัมพูชาและลาวสามารถใช้ไฟฟ้าพลังนํ้าได้

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลอว์เรนซ์ หว่อง

ยักษ์เอกชน 3 ชาติร่วมวงประชุม

อีกประเด็นที่น่าสนใจสำหรับฟอรัมนี้ คือ ฝ่ายสหรัฐ ได้ดึงภาคเอกชน และกองทุนขนาดใหญ่ของสหรัฐเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยปรากฎชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่กว่า 22 แห่งในสหรัฐฯ อาทิ AWS ของ Amazon.com , Google ของ Alphabet, ไมโครซอฟต์, แบล็คร็อค,โกลด์แมน แซคส์, เจพีมอร์แกน, มอร์แกน สแตนลีย์ KKR

 รวมทั้งนักลงทุนชาวออสเตรเลียและญี่ปุ่นรายใหญ่เข้าร่วมการประชุมด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก IPEF ที่จะสามารถจับคู่โครงการพัฒนาของประเทศเข้ากับเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยรัฐบาลสหรัฐ จะช่วยพัฒนาข้อเสนอเพื่อให้ดึงดูดภาคเอกชนสหรัฐ

ไทย ชู Climate Tech

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้แสดงวิสัยทัศน์บนเวทีเสวนา IPEF Clean Economy Investor Forum โดยกล่าวยํ้า นโยบายของรัฐบาลไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริม EV 30@30 การปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุน การพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อรองรับการลงทุน

 ขณะเดียวกันยังได้แสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยในด้านเศรษฐกิจ เพื่อการพัฒนาแห่งอนาคตในสาขาเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วน IPEF ตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อสนับสนุนการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุน รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

โดยเฉพาะในสาขา Climate Tech ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นประโยชน์ต่อสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันได้เเสดงจุดยืนของไทยในการให้ความสำคัญและสร้างความร่วมมือกับภูมิภาคต่างๆ ในโลกอย่างสมดุลผ่านกรอบความร่วมมือและองค์กรต่างๆ รวมถึงกรอบความร่วมมือ IPEF ระดับภูมิภาคที่ริเริ่มโดยสหรัฐ

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ

ไทยร่วมลงนาม IPEF 3 ฉบับ 

“ประเทศไทย” หนึ่งในประเทศสมาชิก ได้เเสดงเจตนารมณ์ในการยกระดับมาตรฐานการค้าการลงทุนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก พร้อมรายงานพัฒนาการของประเทศไทยในกรอบ IPEF และความร่วมมือที่จะนำวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติจริง มีผลเป็นรูปธรรม โดยย้ำว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นขยายความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วน IPEF

โดยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ “นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์" ได้ร่วมลงนามในความตกลงสำคัญ 3 ฉบับ ประกอบด้วย ความตกลงว่าด้วยเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความตกลงว่าด้วยเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง โดยความตกลงดังกล่าวจะนำไปสู่การดำเนินการความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ส่งเสริมความโปร่งใสและธรรมาภิบาล และจัดตั้งกลไกระดับรัฐมนตรีเพื่อกำกับดูแลความร่วมมือ IPEF ในภาพรวมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกัน 

สหรัฐฯ ปักธงลุย อินโด-แปซิฟิก หนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยั่งยืน 9 แสนล้าน

20 โครงสร้างพื้นฐานยั่งยืนพร้อมรับลงทุน

อีกหนึ่งไฮไลท์การประชุม Clean Economy Investor Forum มีโครงการ โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ทั้งหมด 69 โครงการ คิดเป็นโอกาสการลงทุนรวมมูลค่ากว่า 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มี 20 โครงการที่พร้อมรับการลงทุน มูลค่าประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ถูกนำเสนอต่อนักลงทุนในช่วงกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ ส่วนโครงการที่เหลือมูลค่าประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าจะไม่ได้ถูกนำเสนอต่อนักลงทุน แต่โครงการเหล่านี้ยังคงได้รับการยอมรับว่าเป็นโอกาสในการลงทุนที่มีศักยภาพในอนาคต

สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนที่พร้อมรับการลงทุน 20 โครงการ ครอบคลุมหลากหลายด้าน เช่น นิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ พลังงาน เกษตรกรรมและการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า การจัดการขยะ นํ้า และภาคการขนส่ง โดยมีการเสนอชื่อจากบรูไน ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ รวมทั้งประเทศไทย

2 เมกะโปรเจ็กต์ไทยติดโผลงทุน

สำหรับไทย มี 2 โครงการที่อยู่ในรายชื่อโครงการพร้อมรับการลงทุน 20 โครงการ คือ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ค่าใช้จ่ายรวมของโครงการประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เเละ โครงการแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อประสิทธิภาพการดักจับคาร์บอน ไดออกไซด์ ค่าใช้จ่ายรวมของโครงการคาดว่าจะอยู่ที่ 15-20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังมีสตาร์ทอัพเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ 49 แห่ง พยายามระดมทุนสูงสุดถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในฟอรัมการลงทุนจากรายการ “Indo-Pacific Climate Tech 100” ของสตาร์ทอัพเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศชั้นนำในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ในจำนวนนี้มี 4 สตาร์ทอัพของไทย ได้แก่ Inno Green Tech นวัตกรรมระบบบำบัดนํ้าเสียเพื่อสิ่งแวดล้อม Carbonwize แพลตฟอร์มประเมิน Carbon Footprint AltoTech Global ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม IoT สำหรับจัดการระบบการใช้พลังงานในอาคาร โรงแรม และโรงงาน เเละ PAC Corporation ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเครื่องทำนํ้าร้อน และเครื่องปรับอากาศประหยัดพลังงานเข้าร่วมด้วย

สหรัฐฯ ปักธงลุย อินโด-แปซิฟิก หนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยั่งยืน 9 แสนล้าน

4 ชาติลงขันตั้งกองทุนร่วมทุน 33 ล้านดอลลาร์

การประชุม Clean Economy Investor Forum ยังมีการประกาศโครงการและเงินทุนใหม่ อย่าง กองทุน IPEF Catalytic Capital Fund โดย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐ เพื่อขยายโครงการโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจสะอาดที่สามารถลงทุนได้ โดยมีเงินทุนเริ่มต้นรวม 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะสามารถกระตุ้นการลงทุนเอกชนได้สูงถึง 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในประเทศที่มีสิทธิ์รับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA)

ที่น่าสนใจก็คือ บรรษัทการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (DFC) อยู่ระหว่างลงทุนในกองทุนพลังงานสะอาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่สอง (SEACEF) โดยรอการแจ้งเตือนจากรัฐสภา ซึ่งจะช่วยให้ SEACEF ระดมทุนประมาณ 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในโครงการและบริษัทในระยะเริ่มต้นที่จะเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศและเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การลงทุนของ SEACEF จะกระตุ้นการลงทุนจากนักลงทุนอื่นๆ สำหรับโครงการพลังงานสะอาด การเก็บพลังงาน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเคลื่อนย้ายไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานของกริด

การประชุมครั้งนี้ยังได้เห็นการประกาศความร่วมมือและโครงการจากองค์กรและบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น AWS, Bloom Energy, Google, Global Energy Alliance for People and Planet, I Squared Capital และ Stonepeak ซึ่งประกาศคำมั่นสัญญา โครงการ และความร่วมมือครั้งใหญ่


2 ปี  “IPEF”

2 ปีนับตั้งแต่การเปิดตัว กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โครงการนี้เป็นการรวมพลังของหลายประเทศ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าและเป็นธรรมกับทุกคน กรอบความร่วมมือนี้ไม่ใช่ความตกลงการค้าเสรีหรือการเปิดตลาดอย่างที่คุ้นเคยกัน แต่เป็นความพยายามที่จะร่วมมือและจัดระเบียบในการทำความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแบบใหม่

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศจัดตั้งกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจนี้ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก หรือ TPP ในปี 2017 การเปิดตัวครั้งนั้น โจ ไบเดน ได้เน้นย้ำว่า อนาคตทางเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 21 จะถูกเขียนโดยภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก  

ขณะที่ในช่วงเวลาที่โลกกำลังฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เปิดตัวกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการกลับมามีบทบาทนำทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ IPEF ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมีทางเลือกนอกเหนือจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานโลกสะดุด ความร่วมมือนี้ยังเอื้อให้สหรัฐฯ สามารถขยายการค้าและการลงทุน รวมถึงการส่งออกเทคโนโลยีในภูมิภาคได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีนซึ่งเป็นเสมือน "โรงงานของโลก" มาอย่างยาวนาน

พันธมิตร IPEF ทั้ง 14 ประเทศ ได้เเก่ 1.ออสเตรเลีย 2.บรูไน 3.ฟีจี 4.อินเดีย 5.อินโดนีเซีย 6.ญี่ปุ่น 7.เกาหลีใต้ 8.มาเลเซีย 9.นิวซีแลนด์ 10.ฟิลิปปินส์ 11.สิงคโปร์ 12.ไทย 13.สหรัฐฯ 14.เวียดนาม