"ศาลปกครองสูงสุด" พิพากษายกฟ้อง "คดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม" ลุยเซ็นสัญญา BEM

12 มิ.ย. 2567 | 07:33 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2567 | 07:39 น.

“ศาลปกครองสูงสุด” พิพากษายกฟ้อง "คดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม" ปมปรับหลักเกณฑ์ประมูล กีดกันการแข่งขัน ฟากรฟม.ลุยเดินหน้าชงคมนาคม-ครม.ไฟเขียวลงนามสัญญา BEM

รายงานข่าวจากศาลปกครอง เปิดเผยว่า วันนี้ (12 มิ.ย.) เวลา 13.15 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 1437/2566 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.  2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย

 

โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีร่วมกันออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลว. 24 พ.ค.2565 และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค. 2563 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีแล้ว อันมีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

 

วันนี้ศาลปกครองสูงสุด ได้พิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเหมาะสมและความจำเป็นแห่งกรณีเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์เป็นการเฉพาะเจาะจงที่จะทำให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมการคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุน

 

นอกจากนี้การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ให้แตกต่างจากประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ ลงวันที่ 3 ก.ค. 2563 โดยปรับเกณฑ์คะแนน เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ที่จะสามารถดำเนินการตามโครงการให้เกิดผลสำเร็จสูงสุด หากได้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่มีศักยภาพไม่เพียงพอ ย่อมเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ

ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค จึงไม่อาจรับฟังว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน และก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะมีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ ลงวันที่ 24 พ.ค. 2565 ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้แล้ว และไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด

 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า กระบวนการหลังจากนี้ รฟม.เตรียมนำคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมาตีความ เพื่อผลักดันเข้าสู่ขั้นตอนเตรียมลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูล โดยเสนอผลการเจรจาและร่างสัญญามายังกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

 

"หากเห็นชอบผลการประมูลจะเร่งรัดลงนามสัญญาให้เร็วที่สุด ขณะนี้เอกชนผู้ชนะการประมูลยืนราคามาเป็นเวลานานแล้ว อีกทั้งภาพรวมโครงการก็ล่าช้ามาหลายปี ประกอบกับงานโยธาส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 1 ปี หากสามารถเร่งลงนามสัญญาได้จะส่งผลให้เอกชนสามารถจัดหาขบวนรถภายใน 2 ปี และเปิดให้บริการส่วนตะวันออกได้โดยเร็ว"

สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เอกชนผู้ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) รวมถึงงานเดินรถไฟฟ้าตลอดสาย บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนรวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท โดย รฟม.ได้เปิดประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 มีผู้ซื้อซองประมูล 14 ราย และมีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่ม คือ

 

1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท

 

2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับบริษัทขนส่งอินช็อน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้ เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท

 

โดย รฟม.ได้ประกาศให้ BEM ชนะการประมูลเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 เนื่องจาก BEM ผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติและเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐสุทธิ (NPV) -78,287.95 ล้านบาท โดยมาจากการการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐช่วย ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด