ลุ้น เม.ย.นี้ ลงนามสัญญา “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 1.4 แสนล้าน

16 ก.พ. 2567 | 06:43 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2567 | 06:49 น.

“คมนาคม” กางแผนคืบหน้า “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 1.4 แสนล้านบาท ลุ้นศาลปกครองพิจารณา 1 คดี ตั้งเป้าลงนามสัญญาเอกชนภายในเดือนเม.ย.นี้ ขณะที่ภาครัฐเคาะหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน 380 แปลง

KEY

POINTS

  • “คมนาคม” กางแผนคืบหน้า “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 1.4 แสนล้านบาท
  • ลุ้นศาลปกครองพิจารณา 1 คดี ตั้งเป้าลงนามสัญญาเอกชนภายในเดือนเม.ย.นี้
  • ภาครัฐเคาะหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน 380 แปลง

ที่ผ่านมาภาครัฐผลักดัน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)” ซึ่งเป็น 1 ในแผนรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่จะเร่งเปิดให้บริการแก่ประชาชนโดยเร็ว แต่ปัจจุบันโครงการฯ กลับติดปัญหาการฟ้องร้องคดีความในศาลกว่า 2 ปี ทำให้โครงการหยุดกลางคัน

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 140,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ รวมทั้งงานระบบฯ ทั้งเส้นทาง เบื้องต้น รฟม.ได้ตัวเอกชนผู้รับสัมปทานแล้ว คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยจะเสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เมื่อคดีความที่มีผู้ร้องศาลปกครองสิ้นสุดลง

   

“การดำเนินการคัดเลือกเอกชนโครงการฯ ได้มีเอกชนฟ้องร้องเป็นคดีความ ซึ่งปัจจุบันเหลือ 1 คดี ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด คือ คดีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ฟ้องการประมูลโครงการรถไฟฟ้าครั้งที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมายถือเป็นการกีดกันด้านการแข่งขัน โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ถอนเรื่องเสนอผลการคัดเลือกเอกชน เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าควรรอการพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จก่อน ทำให้ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาคดีของศาลปกครองก่อนเสนอผลการคัดเลือกต่อกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง”
 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ตามแผนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (ส่วนตะวันตก) ระยะทาง 35.90 กิโลเมตร (กม.) จะลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลภายในเดือนเมษายนนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนพฤษภาคม 2567-เมษายน 2573 และเปิดให้บริการภายในเดือนเมษายน 2573 

 

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ เพื่อเวนคืนที่ดินก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีระยะทาง 13.4 กิโลเมตร (กม.) คือ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน มีพื้นที่ครอบคลุม 29 แขวง รวม 11 เขตของกรุงเทพมหานคร  

ส่วนการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนและกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการ เพื่อกิจการขนส่งมวลชนตามโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ครอบคลุม 29 แขวง รวม 11 เขตของกทม. มีกำหนดใช้บังคับ 4 ปี โดยมีที่ดินที่จะต้องเวนคืนประมาณ 380 แปลง รวมทั้งมีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรื้อถอนประมาณ 400 หลัง

 

ทั้งนี้เมื่อผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม.แล้ว ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดและรับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีลักษณะโครงสร้างใต้ดินทั้งหมด 11 สถานี มีจุดเริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นอุโมงค์ใต้ดินวิ่งไปตามแนวทางรถไฟเดิมไปยังโรงพยาบาลศิริราช (สถานีศิริราช) จากนั้น วิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาขนานไปกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้พื้นที่ถนนราชดำเนิน ผ่านสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเบี่ยงเส้นทางไปตามแนวถนนหลานหลวงจนถึงแยกยมราช เลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรบุรีจนถึงสี่แยกประตูน้ำ เลี้ยวซ้ายใต้ถนนราชปรารภ ตรงไปถึงสามเหลี่ยมดินแดง ก่อนจะเลี้ยวขวาตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต เลี้ยวขวาผ่านศาลาว่าการ กทม. 2 และเบี่ยงขวาลอดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ ไปสิ้นสุดปลายทางที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ลุ้น เม.ย.นี้ ลงนามสัญญา “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 1.4 แสนล้าน

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)  หรือส่วนตะวันออก ระยะทาง 22.57 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันงานก่อสร้างงานโยธาทั้ง 6 สัญญา มีผลงานคืบหน้า 100% ส่วนงานติดตั้งระบบไฟฟ้าและงานเดินรถของส่วนตะวันออกอยู่ในส่วนหนึ่งสัญญาร่วมลงทุน คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างส่วนตะวันออกแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายในเดือนตุลาคม 2570    

นอกจากนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)  หรือส่วนตะวันออก มีลักษณะโครงสร้างใต้ดินและทางยกระดับ จำนวน 17 สถานี แบ่งออกเป็น สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานีมีแนวเส้นทางตั้งแต่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ซึ่งตัดกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ตรงเข้าสู่ถนนพระราม 9 แล้วเลี้ยวเข้าถนนรามคำแหง จนตัดกับสายสีเหลืองที่สถานีลำสาลี และสายสีชมพูที่สถานีมีนบุรี และสิ้นสุดโครงการที่สถานีสุวินทวงศ์