ปักหมุด ต.ค.นี้ “คมนาคม” สั่งลงนามสัญญา BEM สร้าง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

12 มิ.ย. 2567 | 10:43 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2567 | 10:48 น.

“คมนาคม” เดินหน้าต่อ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้องคดี ฟาก รฟม. จ่อชงคมนาคม-ครม.เคาะผลคัดเลือก-ร่างสัญญาฯ เตรียมลงนามสัญญา BEM ภายในต.ค.นี้ ตั้งเป้าเปิดให้บริการสายตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายใน พ.ค. 71

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (12 มิถุนายน 2567) พิพากษายกฟ้องในคดี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น

 

ทั้งนี้ ตามที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้องในวันนี้ ถือเป็นคดีสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาทสำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และมีผลคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ส่งผลให้คดีในศาลปกครองทุกคดีเกี่ยวกับประเด็นพิพาทการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ มีคำพิพากษาถึงที่สุดทุกคดีแล้ว 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ตามขั้นตอน รฟม. จะดำเนินการเสนอผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนต่อไปตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยกระทรวงคมนาคมมีระยะเวลาในการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

ปักหมุด ต.ค.นี้ “คมนาคม” สั่งลงนามสัญญา BEM สร้าง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

“เมื่อ ครม. มีมติให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ แล้ว รฟม. จะเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในเดือนตุลาคม 2567 โดยมีแผนเปิดให้บริการโครงการสำหรับส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในเดือนพฤษภาคม 2571 และเปิดให้บริการโครงการตลอดทั้งเส้นทาง ตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในเดือนพฤศจิกายน 2573” 
 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) โดยส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กม. จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)