“ปราบสินค้าไม่ตรงปก” ปรับ 1 แสน คุก 1 ปี เก็บเงินปลายทางเปิดดูก่อนได้

13 มิ.ย. 2567 | 04:09 น.

สคบ. เตรียมออกประกาศฉบับใหม่ ลุย “ปราบสินค้าไม่ตรงปก” เรียกเก็บเงินปลายทางสามารถเปิดดูก่อนได้ ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1 แสนคุก 1 ปี หรือทั้งจำและปรับ

KEY

POINTS

  • สคบ. จัดทำร่างประกาศที่กำหนดให้ธุรกิจขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางต้องควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน ผ่านขั้นตอนการรับฟังประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว
  • ร่างประกาศ ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับบริการเก็บเงินปลายทาง หลักฐานการรับเงิน เงื่อนไขที่ผู้บริโภคมีสิทธิ์ได้รับเงินค่าสินค้าคืนในกรณีที่สินค้ามีปัญหา
  • กำหนดให้บริษัทขนส่งต้องเก็บเงินไว้ 5 วันก่อนโอนให้ร้านค้า หากสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อบริษัทขนส่งต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภค หากบริษัทขนส่งไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษ

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เดินหน้าจัดการปัญหาที่มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก หนึ่งในปัญหานั้นคือ สินค้าที่มีลักษณะเก็บเงินปลายทาง ที่เป็นสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือ สินค้าไม่ตรงปก

สคบ. กำลังจัดทำ “ร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ....”  

ร่างประกาศฉบับนี้ผ่านขั้นตอนการรับฟังประชาพิจารณ์เสร็จแล้ว จะมีการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเพื่อประกาศบังคับใช้ต่อไป

 

แหล่งข่าวจาก สคบ. อธิบายกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงเหตุผลของการทำประกาศดังกล่าว เนื่องจากมีการร้องเรียนเข้ามามาก เกี่ยวกับสินค้าที่มีการเก็บเงินปลายทางและสินค้าไม่ตรงปก หรือไม่ตรงกับสั่งซื้อ หรือไม่ได้สั่งแต่กลับมีสินค้ามาส่งที่บ้าน

“ดังนั้นกรณีที่เก็บเงินปลายทางที่ผู้บริโภคสามารถเปิดดูสินค้าได้ก่อน และบริษัทขนส่งที่ส่งสินค้าไปส่งให้ผู้บริโภคต้องเก็บเงินเอาไว้ 5 วัน ถ้าพ้น 5 วันแล้วก็จึงจะโอนให้กับร้านค้าได้ ถ้าสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อบริษัทขนส่งต้องโอนเงินคืนให้กับผู้บริโภค เพราะปัญหาเรื่องนี้คือ มิจฉาชีพเขาต้องการเงิน เมื่อได้สั่งซื้อสินค้า มีการโอนเงินแล้วก็จบ ซึ่งพบว่าขนส่งบางบริษัทโอนเงินทันทีที่มีการรับสินค้า”

“ปราบสินค้าไม่ตรงปก” ปรับ 1 แสน คุก 1 ปี เก็บเงินปลายทางเปิดดูก่อนได้
 

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบร่างประกาศฉบับดังกล่าว ที่มีการประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นแล้ว พบรายละเอียดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการกำหนดให้ “ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน” ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

โดยคำนิยามของ “ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทาง” หมายความว่า การประกอบกิจการบริการขนส่งสินค้าโดยผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้นำสินค้าจากผู้ส่งสินค้าไปส่งให้กับผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อสินค้าโดยเมื่อนำสินค้าไปส่งให้กับผู้บริโภคแล้วมีการเรียกเก็บเงินปลายทางกับผู้บริโภคโดยผู้บริโภคจะชำระเป็นเงินสดหรือโอนเข้าบัญชีก็ได้

“บริการเก็บเงินปลายทาง” หมายความว่า บริการขนส่งสินค้าตามที่อยู่ผู้รับสินค้าซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยให้บริการเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากผู้รับสินค้า ณ ที่อยู่ของผู้รับสินค้า ก่อนทำการส่งมอบสินค้าและนำส่งเงินค่าสินค้าให้กับผู้ส่งสินค้าตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน

นอกจากนี้ร่างประกาศยังกำหนด “หลักฐานการรับเงินการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางที่ผู้ประกอบธุรกิจออกให้กับผู้บริโภค” ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่า 2 มิลลิเมตรโดยมีจำนวนตัวอักษรไม่เกิน 11 ตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว และต้องใช้ข้อความที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข อาทิ รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ส่งสินค้า อย่างน้อยให้ระบุชื่อและนามสกุลของบุคคลธรรมดา หรือชื่อนิติบุคคลที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล โดยให้ระบุเท่าที่จำเป็นต่อการปฏิบัติตามสัญญา ฯ

ส่วนที่เป็นไฮไลท์ของร่างประกาศฉบับนี้ ระบุข้อความที่ผู้บริโภคมีสิทธิ์ได้รับเงินค่าสินค้าคืน 4 เงื่อนไขคือ

1.ในกรณีที่ผู้บริโภคได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าที่สั่งซื้อมีความชำรุดบกพร่องให้ผู้ประกอบธุรกิจรับสินค้าคืนจากผู้บริโภคกลับไปยังผู้ส่งสินค้า และคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค

2.ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่ได้สั่งซื้อสินค้าแต่มีสินค้าไปส่งแล้วเรียกเก็บเงินปลายทาง หากผู้บริโภคมีการชำระค่าสินค้าแล้ว และพิสูจน์ได้ภายหลังว่าผู้บริโภคไม่ได้สั่งซื้อสินค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจรับสินค้าคืนจากผู้บริโภคกลับไปยังผู้ส่งสินค้า และคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค

3.เมื่อผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้รับเงินที่ชำระค่าสินค้าจากผู้บริโภคแล้วให้ถือเงินไว้ก่อนเป็นเวลา 5 วันนับแต่วันที่ผู้บริโภคได้รับมอบสินค้าและชำระเงินให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ โดยผู้ประกอบธุรกิจจะยังไม่นำเงินไปส่งให้กับผู้ส่งสินค้า

และเมื่อพ้นกำหนด 5 วันนับแต่วันที่ได้รับชำระเงินจากผู้บริโภคแล้วปรากฎว่าผู้บริโภคไม่ได้มีการแจ้งขอเงินคืนให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเงินไปส่งให้กับผู้ส่งสินค้า แต่ถ้าผู้บริโภคแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืนต่อผู้ประกอบธุรกิจภายในกำหนดเวลา 5 วันนั้น ว่าผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ตนไม่ได้สั่งซื้อ หรือสินค้าที่ได้รับไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าที่ตนสั่งซื้อมีความชำรุดบกพร่อง และเมื่อผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบสินค้าที่รับคืนมาจากผู้บริโภคแล้วก็ดี

ถ้าปรากฎว่าสินค้านั้นเป็นไปตามเหตุที่ผู้บริโภคแจ้งมาจริง ดังนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคชำระทั้งหมดให้แก่ผู้บริโภคภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภค และส่งมอบสินค้านั้นคืนให้กับผู้ส่งสินค้า ทั้งนี้ หลักเกณฑ์นี้จะไม่นำไปใช้บังคับกับกรณีผู้บริโภคขอเงินคืนด้วยเหตุผลอื่นนอกจากเหตุดังกล่าวนั้น

4.ในกรณีที่ผู้บริโภครับและเปิดดูสินค้าให้กระทำต่อหน้าผู้ประกอบธุรกิจ โดยให้บันทึกภาพถ่ายหรือวิดีโอหรือเอกสารหลักฐานอย่างอื่นไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อบุคคลทั้งสองดังกล่าวตรวจสอบสินค้าแล้วพบว่าสินค้านั้นไม่ตรงตามข้อ 1 และ 2 ให้ผู้บริโภคปฏิเสธไม่รับสินค้านั้นได้กรณีที่ผู้บริโภคไม่อยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบสภาพสินค้าในขณะรับสินค้า

เมื่อได้ทำหลักฐานตามวรรคหนึ่งและส่งให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้รับการโต้แย้งในเวลาตามที่กำหนดในข้อ 3 ให้ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธไม่รับสินค้าและได้รับเงินค่าสินค้าคืน

“ส่วนบทลงโทษกรณีที่บริษัทขนส่งไม่ปฏิบัติตาม ไม่ได้กำหนดในร่างประกาศฉบับนี้ แต่ถ้าไม่ทำตามประกาศ สบค.อำนาจตามกฎหมายแม่ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโทษ ซึ่งกรณีนี้จะมีโทษปรับ 2 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำและปรับ บังคับใช้กับขนส่งและผู้เกี่ยวข้อง

รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2567 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุปัญหาสินค้าออนไลน์และไม่ตรงปกเป็นหนึ่งในปัญหาภาวะสังคมไทย

สถิติการรับร้องเรียนสินค้าและบริการในไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 ของ สคบ. มีจำนวน 5,786 เรื่อง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 54.2 โดยประเด็นที่มีการร้องเรียนสูงสุด คือ ด้านโฆษณา รองลงมาเป็นด้านขายตรงและตลาดแบบตรง ด้านฉลาก และด้านสัญญา ตามลำดับ

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าและบริการที่ได้รับร้องเรียนสูงสุด คือสินค้าออนไลน์ 2,162 เรื่อง ส่วนใหญ่มาจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากร้านค้า รองลงมาเป็นสินค้ากลุ่มรถยนต์ 361 เรื่อง โดยการร้องเรียนส่วนมากเป็นเรื่องการชำรุด และกลุ่มอาคารชุด/คอนโดมิเนียม 331 เรื่อง จากการขอให้มีการตรวจสอบ โครงการ/การยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน เป็นต้น

“ร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ....”

“ร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ....”

“ร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ....”