ปิดมหากาพย์ ประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ดีเลย์ 4 ปี

14 มิ.ย. 2567 | 06:02 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2567 | 01:43 น.

ปลดล็อค ประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” มูลค่า 1.4 ล้านบาท ปมกีดกันการแข่งขัน หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้องยืนตามศาลชั้นต้น ฟากคมนาคมเร่งเดินหน้าลงนามสัญญา BEM ภายในเดือนต.ค.นี้ หวั่นแผนจัดหารถสายตะวันออก กระทบเปิดให้บริการล่าช้า 

KEY

POINTS

  • ปลดล็อค ประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” มูลค่า 1.4 ล้านบาท ปมกีดกันการแข่งขัน หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้องยืนตามศาลชั้นต้น
  • ฟากคมนาคมเร่งเดินหน้าลงนามสัญญา BEM ภายในเดือนต.ค.นี้ หวั่นแผนจัดหารถสายตะวันออก กระทบเปิดให้บริการล่าช้า 

ที่ผ่านมาภาครัฐเร่งเดินหน้า “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” เพราะเป็นโครงการรถไฟฟ้าที่เป็นความหวังของประชาชนต่างเฝ้ารอจะใช้บริการ เนื่องจากโครงการฯนี้มีแนวเส้นทางผ่านใจกลางเมืองจากทางทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตกหลายแห่ง ที่ลอดผ่านย่านชุมชนหนาแน่น, ย่านเศรษฐกิจการค้าสำคัญ รวมทั้งย่านเมืองเก่า ตลอดจนผ่านพื้นที่โบราณสถานและอาคารอนุรักษ์เป็นจำนวนมาก

 

ถึงแม้ว่า “รถไฟฟ้าสายสีส้ม สายตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)”  ได้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ เนื่องจากการจัดหาขบวนรถสายตะวันออกถูกผูกในสัญญาการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายตะวันตก หากสายตะวันออกเปิดให้บริการล่าช้า จะส่งผลให้ประเทศเสียหายสูงถึง 4.3 หมื่นล้านบาทต่อปี อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมายังติดปัญหาคดีในศาลปกครอง ทำให้โครงการต้องหยุดชะงักกลางคัน 

 

ล่าสุด “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท 1 ในเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ของภาครัฐที่คาราคาซังติดปัญหาการฟ้องร้องต่อศาลปกครองมานานกว่า 4 ปี ซึ่งผ่านมาถึง 2 รัฐบาล ปัจจุบันคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดได้ข้อยุติในยุครัฐบาลนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เร่งผลักดันทันที เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อได้

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา “ศาลปกครองสูงสุด” พิพากษายกฟ้องคดีรถไฟฟ้าสายสีส้มเห็นชอบด้วยกฎหมาย โดยยืนตามศาลปกครองชั้นต้น หลังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้ปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการฯ เมื่อเดือนพ.ค. 2565 เป็นเหตุให้บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวถือเป็นการกีดกันด้านการแข่งขันจนนำมาสู่การฟ้องร้องคดีในครั้งนี้

 

จากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้วิเคราะห์เห็นว่ารฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเหมาะสมและความจำเป็น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ อีกทั้งการกำหนดคุณสมบัติในการคัดเลือกเอกชน พบว่ามีเอกชนที่มีผลงานตามเกณฑ์ที่กำหนดแต่ละประเภทในโครงการฯ ถึง 12 ราย ประกอบกับบีทีเอสซีมีบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เป็นพันธมิตร มีสิทธิ์ดึงเอกชนรายอื่นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์เข้ามารวมกลุ่มเพื่อเข้าร่วมประมูลได้ จึงถือว่าการกำหนดหลักเกณฑ์นั้นไม่มีลักษณะที่เป็นการเอื้อประโยชน์เฉพาะเจาะจงหรือเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมได้ จึงไม่ถือเป็นการกีดกันด้านการแข่งขันไม่ให้บีทีเอสซีเข้าร่วมการคัดเลือกร่วมลงทุนในครั้งนี้ ทำให้ผลการอุทธรณ์ของบีทีเอสซีฟังไม่ขึ้น

 

ไม่เพียงเท่านั้นศาลปกครองสูงสุดได้วิเคราะห์ ในประเด็นที่ผู้ผ่านการคัดเลือกการประมูลไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เนื่องจาก 1 ในกรรมการของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ต้องโทษจำคุกขัดต่อประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน แต่กลับผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติเพื่อเป็นคู่เทียบกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ชนะการประมูลนั้น

 

ต่อมาศาลปกครองสูงสุดไม่สามารถรับคำฟ้องร้องเพิ่มเติมจากการอุทธรณ์ของบีทีเอสซีได้ เนื่องจากคำฟ้องเพิ่มเติมที่บีทีเอสซีได้ยื่นต่อศาลนั้นหมดระยะเวลาการสิ้นสุดแสวงหาคดีแล้ว อีกทั้ง ITD ไม่ได้เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการฯที่ทำให้ประเทศเสียหาย โดยที่ผ่านมารฟม.ได้มีการรายงานต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับแล้ว ศาลจึงเห็นว่ากระบวนการลงนามสัญญายังไม่เสร็จสิ้น เพราะอำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับครม.เป็นผู้พิจารณา

ฟากกระทรวงคมนาคมได้ออกมาเคลื่อนไหวทันทีภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว ซึ่งได้กางแผนเตรียมเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต่อทันที เพื่อให้โครงการสามารถไปต่อได้ โดยวางไทม์ไลน์หลังจากนี้ รฟม. จะเสนอผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการต่อกระทรวงคมนาคมเห็นชอบ ซึ่งมีระยะเวลาการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

ปิดมหากาพย์  ประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ดีเลย์ 4 ปี

หาก ครม. มีมติให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้ว หลังจากนั้นรฟม.จะลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ BEM ผู้ชนะการประมูล ภายในเดือนต.ค.2567 ซึ่งมีแผนเปิดให้บริการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในเดือนพ.ค. 2571 และเปิดให้บริการโครงการฯตลอดทั้งเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในเดือนพ.ย.2573 

 

นับจากนี้ “คมนาคม” ต้องเร่งสปีด “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามแผนที่วางไว้ หากปล่อยให้โครงการล่าช้าอาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนเพิ่มขึ้นอีก เชื่อว่ารถไฟฟ้าสายนี้จะเป็นระบบขนส่งสาธารณะหลักที่สำคัญในอนาคตอีกสายหนึ่งในกรุงเทพฯ