ความท้าทายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” นอกจากการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ และการประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศแล้ว เรื่อง “การจัดเก็บรายได้” เติมลงไปยังงบประมาณ นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง กับการวัดฝีมือของรัฐบาลที่จะต้องหารายได้จากแหล่งต่าง ๆ เป็นไปตามเป้าหมายในแต่ละปี
ล่าสุดจากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุถึงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – เมษายน 2567) พบว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล “หลุดเป้า” โดยการจัดเก็บรายได้สุทธิอยู่ที่ 1,386,040 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 39,102 ล้านบาทหรือ 2.7%
หากแยกการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี รวมกันอยู่ที่ 1,463,872 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 35,498 ล้านบาท หรือ 2.4% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 38,876 ล้านบาท หรือ 2.7% แยกเป็น
นั่นจึงทำให้การรีดรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลตลอดทั้งปีมีความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการปรับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้เพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาท หลังรัฐบาลตัดสินใจทำงบกลางปีเพิ่มเติมเพื่อเป็นแหล่งเงินในการทำนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยตั้งประมาณการรายได้สุทธิ 2.797 ล้านล้านบาท
“เฉลิมพล เพ็ญสูตร” ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจถึงการบริหารงบประมาณของประเทศว่า ส่วนตัวมองเห็นความสำคัญเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณของประเทศให้เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
โดยนอกจากการจัดทำงบประมาณรายจ่าย หรือการหาทางประหยัดการใช้จ่ายงบประมาณแล้ว การจัดเก็บรายได้เข้ารัฐก็เป็นสำคัญ ซึ่งส่วนตัวมองว่า การกลับมาพิจารณาภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่การจะปรับขึ้นก็ต้องพิจารณาในจังหวะที่เหมาะสม เกิดประโยชน์ และต้องเกิดความเป็นธรรมด้วย
ทั้งนี้จากการพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณที่ดูแลสวัสดิการประชาชน ทั้งเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน วัยแรงงาน ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลพบว่า ในปีงบประมาณ 2568 มีการจัดสรรวงเงินงบประมาณด้านสวัสดิการที่จะต้องดูแลคนทุกกลุ่มสูงถึง 7.49 แสนล้านบาท ซึ่งถ้ารวมเงินเดือนครู และบุคลากรทางการแพทย์ เข้าไปด้วย จะทำให้มีวงเงินงบประมาณที่ต้องใช้พุ่งสูงถึง 9.7 แสนล้านบาท
ขณะที่การจัดเก็บรายได้จากภาษี เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ล่าสุดมีคนเข้าเกณฑ์การเสียภาษี 4.17 ล้านคน โดยมีวงเงินภาษีที่จัดเก็บได้ 4.35 แสนล้านบาท ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มเก็บได้ 9.69 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้จะต้องจัดสรรให้ท้องถิ่น ตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1.35 แสนล้านบาท จัดสรรให้อบจ. 2.71 หมื่นล้านบาท เหลือภาษีมูลค่าเพิ่มมาให้รัฐบาลทำงบประมาณ 8.06 แสนล้านบาทเท่านั้น
ความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จัดเก็บได้จริงๆ แค่ 8.06 แสนล้านบาท แต่วงเงินที่ต้องไปจ่ายสวัสดิการมีมากถึง 7.49 แสนล้านบาท และถ้ารวมเงินเดือนก็มีวงเงินเกินรายได้แล้ว ถ้าแนวโน้มในอนาคตหากมีการจัดทำนโยบายอื่นๆ เพิ่มไปอีก เช่น การเพิ่มเงินผู้สูงอายุ 3,000 บาท จะทำให้ภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่วนทางกับแหล่งรายได้ที่มีอยู่อย่างจำกัด และไม่เพียงพอต่อการดำเนินนโยบายแน่นอน
“ปีงบประมาณ 2568 มีการจัดสรรเงินงบประมาณเป็นเบี้ยผู้สูงอายุอยู่ที่ 9.59 หมื่นล้านบาท โดยจ่ายให้ผู้สูงอายุ 12.2 ล้านคน ถ้าจะเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุขึ้นมาเป็นคนละ 3,000 บาท จะต้องจัดงบไปจ่ายเพิ่มเป็น 4.3 แสนล้านบาท ดังนั้นถ้านโยบายชัดว่าการหารายได้ส่วนนี้ หากเพิ่มภาษีภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT จาก 7% เป็น 10% แล้วมีเงินเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ แล้วเอาไปใช้ให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย เช่นช่วยคนกลุ่มนี้ หรือคนกลุ่มอื่นๆ ที่ชัดเจน ก็คงต้องมาคิดกันว่าจะทำได้ไหม” ผอ.สำนักงบฯ กล่าว