วัดใจรัฐบาลเจียด งบกลาง 2567 หมื่นล้าน แก้น้ำท่วม น้ำแล้ง

14 มิ.ย. 2567 | 10:02 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2567 | 10:15 น.

จับตา บิ๊กโปรเจกต์บริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง เตรียมเสนอขอใช้งบกลาง ปี 2567 หลักหมื่นล้านบาท วงในชี้รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนัก เพราะหากจัดงบให้อาจกระทบแหล่งเงินทำเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2567 กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย "งบกลาง" เอาไว้จำนวน 614,943.3 ล้านบาท โดยมีรายการต่าง ๆ ภายใต้งบกลาง 11 รายการ โดยหนึ่งในนั้นคือ รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งตั้งเอาไว้ 9.95 หมื่นล้านบาท 

โดยเป็นรายจ่ายที่ตั้งสำรองไว้เพื่อจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งจะต้องเป็นเงินที่รัฐบาลเอาไปใช้เพื่อช่วยเหลือ แก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนหรือกรณีที่เกิดความเสียหายในลักษณะต่าง ๆ เช่น มีเหตุที่เกิดจากอุทกภัย หรือน้ำท่วม ภัยแล้ง และภัยธรรมชาติอื่น ๆ เป็นต้น

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีหน่วยงานต่าง ๆ ทยอยขอรับการจัดสรรรายจ่ายงบกลาง มาอย่างต่อเนื่อง และในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณนี้ จะมีโครงการใหญ่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เสนอเข้ามาของรับการจัดสรรงบกลางอีกหลักหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะโครงการของ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งมีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 61,503 รายการ วงเงิน 440,431.19 ล้านบาท

ทั้งนี้หากมีการขอรับการจัดสรรงบกลางเข้ามาวงเงินหลักหมื่นล้านในช่วงนี้ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนิน นโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Waltet ของรัฐบาล ซึ่งยังคงต้องการวงเงินจากการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายปี 2567 อีกกว่า 5.3 หมื่นล้าน ซึ่งส่วนหนึ่งมีการประเมินว่าอาจจะต้องใช้เงินงบกลางส่วนหนึ่งมาให้ในโครงการนี้ด้วย

ฐานเศรษฐกิจได้สอบถามประเด็นการจัดสรรงบกลางปี 2567 จากนายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ ยอมรับว่า ขณะนี้วงเงินงบกลาง ปี 2567 ยังคงเหลือพอบริการได้ เพราะยังมีวงเงินเหลือไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งวงเงินนี้ยังต้องสำรองเอาไว้ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน โดยเฉพาะการดูแลเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง แต่ตอนนี้ยังต้องรอพิจารณาก่อนว่า สทนช. จะเสนอขอรับการจัดสรรเท่าใด และใช้ในโครงการไหนก่อน 

“งบกลางต้องสำรองไว้เรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง โดย สทนช.มีโครงการในแผนเป็นแสนล้านบาท แต่ต้องรอดูก่อนว่าจะขอเข้ามาเท่าใด และต้องดูกำลังเงินก่อนว่าจะให้ได้แค่ไหน เพราะงบกลาง รัฐบาลยังต้องเตรียมไว้ใช้ในเรื่องอื่น ๆ อีก ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการใช้จ่ายงบกลางให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพยายามมีวินัยในการใช้งบกลาง โดยจะให้เฉพาะหน่วยงานที่ไม่สามารถตั้งงบประมาณปกติได้จริง ๆ เท่านั้น” นายเฉลิมพล ยืนยันกับฐานเศรษฐกิจ

สำหรับแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่ผ่านมาได้เสนอให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบแผนฉบับปรับปรุงใหม่ไปแล้ว โดยมีจำนวนโครงการกว่า 61,503 รายการ รวมวงเงิน 440,431.19 ล้านบาท ซึ่งทางฝ่ายเลขานุการ กนช. เห็นควรให้หน่วยงานนำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปี 2568 ที่ กนช. และประธาน กนช. เห็นชอบ ไปดำเนินการ ดังนี้ 

1. แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ กลุ่ม Y1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามกรอบเป้าหมาย (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จำนวน 38,651 รายการ วงเงิน 222,355.4773 ล้านบาท ไปขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นลำดับต้นต่อไป 

2. แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ กลุ่ม Y2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ส่วนที่เกินกรอบเป้าหมาย (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จำนวน 22,852 รายการ วงเงิน 218,075.7181 ล้านบาท เห็นควรใช้เป็นแผนงานโครงการสำรอง ให้หน่วยงานนำไปขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามความเหมาะสมต่อไป