องค์กรขนาดใหญ่แนะภาคธุรกิจไทยปรับตัวมุ่ง"ธุรกิจสีเขียว" สู่ความยั่งยืน

17 มิ.ย. 2567 | 03:31 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2567 | 03:31 น.

องค์กรขนาดใหญ่แนะภาคธุรกิจไทยปรับตัวมุ่ง"ธุรกิจสีเขียว" สู่ความยั่งยืน SCG เผยใช้วาระเปลี่ยนผ่าน Green Growth ทำองค์กรให้คล่องตัวและยืดหยุ่น ด้าน ปตท. ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่จะกลายเป็น New source of growth

นางจันทนิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ – การเงินและการลงทุน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดผยในงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “การเงินสีเขียว ก้าวที่สำคัญสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ว่า SCG ได้ใช้วาระการเปลี่ยนผ่านสู่ Green Growth ทำองค์กรให้มีความคล่องตัวและยืดหยุ่น (Agile Organization) 

รวมถึงเป็นองค์กรแห่งโอกาส (Organization of Possibilities) พร้อมที่จะปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

ขณะที่ในด้านของผลิตภัณฑ์ ได้ผลักดัน Green Innovations เช่น ปูนคาร์บอนต่ำ และ การผลิตสินค้าพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมองว่าในการผลักดันแนวทาง ESG องค์กรสามารถหาโอกาสทางธุรกิจได้เสมอ และดีกับทุกฝ่าย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive Society)

นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่จะกลายเป็น New source of growth เช่น EV Value Chain และ Hydrogen โดยตั้งเป้าว่าในปี 2030 ต้องมีส่วนแบ่งรายได้ที่ 30% 
 

 
 

ทั้งนี้ บริษัทในเครือ (เช่น GPSC PTTEP) ต่างผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero  Emissions ไปตามความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัท และ ปตท. ได้ออกจากธุรกิจถ่านหินเรียบร้อย ดังนั้น กุญแจสำคัญจึงอยู่ที่การปรับตัวเองให้ยืดหยุ่น พร้อมรับความท้าทายรูปแบบต่างๆ และมีการจัดการอย่างเป็นระบบ 

องค์กรขนาดใหญ่แนะภาคธุรกิจไทยปรับตัวมุ่ง"ธุรกิจสีเขียว" สู่ความยั่งยืน

นางสาวนภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บัญชี และความเสี่ยง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า CPN มีการปรับกระบวนการดำเนินงานให้ปล่อยคาร์บอนลดลง ลด Waste และสร้าง Green Building และแม้จะมีข้อจำกัดด้านเงินทุนอยู่บ้าง แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินผ่านโซลูชันต่างๆ โดยปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ดีคือ การทำให้คนในองค์กรเข้าใจและร่วมกันเดินไปบนเส้นทางสายเดียวกัน

นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า สำหรับบทบาทสำคัญของธนาคารในการเป็นแรงผลักดัน เพื่อช่วยขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว นั้น แต่ละองค์กร หรือธุรกิจก็มีข้อจำกัด ความจำเป็น ความชัดเจนในแนวทางหรือเป้าหมายที่แตกต่างกัน ขณะที่เรื่องของกฏ กติกา ข้อกฎหมาย มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและแตกต่างกันตามลักษณะของธุรกิจ 

กรุงศรีมีหน่วยงาน EFD (ESG Finance Department) ที่เป็นทีมงานผู้เชี่ยวชาญในระดับ Global ทำงานร่วมกับเครือข่ายระดับโลกอย่าง MUFG ในการให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการเงินเพื่อความยั่งยืน 

รวมถึงการให้คำแนะนำปรึกษากับลูกค้าธุรกิจเพื่อช่วยวางแผนในช่วงการเปลี่ยนผ่านตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ซึ่งพร้อมที่จะนำพาลูกค้าก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า  ในมุมมองของผู้ประกอบการ SME อาจมองว่า การเดินตามแนวทาง ESG เป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับกิจการ 

อย่างไรก็ดี มองว่าโการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือธุรกิจสีเขียว (Green Business) เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนไปจนถึงการผลิตและจัดส่งสินค้า โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

อีกทั้งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกธุรกิจควรเริ่มปรับตัว เพราะนอกจากผลลัพธ์เชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลต่อภาพรวมขององค์กร ทั้งในด้านภาพลักษณ์ การบริหารจัดการ การปรับสภาพคล่อง และยังเป็นการสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการในการเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น และสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นแกนหลักของการดำเนินธุรกิจอีกด้วย

อย่างไรก็ดี กาปรับธุรกิจไปสู่ธุรกิจสีเขียวได้นั้น ต้องเริ่มจากการที่ผู้ประกอบการรู้จัก Carbon Footprint ของธุรกิจตนเองก่อนผ่านแนวทาง 5 ขั้นตอนการพลิกโฉมธุรกิจสีเขียว ประกอบด้วย 

  • การกำหนดขอบเขตองค์กรและการดำเนินงาน ต้องรู้ว่าธุรกิจขั้นตอนไหน ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ Scope 1 ที่เกิดโดยตรงจากกิจกรรมของธุรกิจเอง (Burn) Scope 2 จากการที่ธุรกิจดำเนินการหามาจากภายนอก (Buy) เช่น ไฟฟ้า หรือพลังงานเชื้อเพลิงต่างๆ และ Scope 3 จากกิจกรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่กล่าวมา (Beyond) เช่น การขนส่ง การกำจัดของเสีย ซึ่งรวมทั้งจากธุรกิจเอง พนักงาน รวมไปถึงคู่ค้า 
  • การเก็บรวบรวมข้อมูล 
  • การคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจก คิดจาก ข้อมูลกิจกรรมและ Emission Factor 
  • การสรุปผลและรายงานผล ได้แก่ วิเคราะห์แหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ และหาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อย 
  • การทวนสอบ เพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐานฉลากด้านสิ่งแวดล้อม