วันนี้ (18 มิถุนายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินสำคัญของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล
ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไปหลังจากผ่านการเห็นชอบจากครม.แล้ว สำนักงบประมาณ จะนำร่างพ.ร.บ.งบเพิ่มเติมฯ ไปเปิดรับฟังความคิดเห็น เป็นเวลา 7 วัน และจะนำมารายงานครม.รับทราบอีกครั้ง ก่อนจะจัดพิมพ์ร่างพ.ร.บ.งบเพิ่มเติมฯ มาเสนอครม.เห็นชอบ และเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎร เป็นลำดับถัดไปประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2567 นี้
สำหรับวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท จะมีวงเงินเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 3,602,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 417,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.1% โดยโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 มีดังนี้
รายจ่ายประจำ
กำหนดไว้จำนวน 24,400 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายประจำตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 2,540,468.6 ล้านบาท จะทำให้มีรายจ่ายประจำ 2,564,868.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 162,382.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.8% และคิดเป็นสัดส่วน 71.2% ของวงเงินงบประมาณรวม
รายจ่ายลงทุน
กำหนดไว้จำนวน 97,600 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 710,080.5 ล้านบาท จะทำให้มีรายจ่ายลงทุน 809,680.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 จำนวน 118,200.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.1% คิดเป็นสัดส่วน 22.4% ของวงเงินงบประมาณรวม
รายได้รัฐบาล
กำหนดไว้จำนวน 1 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ที่กำหนดไว้ 2,787,000 ล้านบาท จะทำให้มีรายได้สุทธิทั้งสิ้น 2,9793,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 จำนวน 307,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.3% คิดเป็นสัดส่วน 15.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
งบประมาณขาดดุล
กำหนดไว้จำนวน 1.12 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับประมาณการขาดดุลปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่กำหนดไว้ 693,000 ล้านบาท จะเป็นการขาดดุลงบประมาณทั้งสิ้น 693,000 ล้านบาท จะมีการขาดดุลงบประมาณทั้งสิ้น 805,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 จำนวน 1.1 แสนล้านบาท หรือขาดดุลงบประมาณเพิ่ม 15.8% และคิดเป็น 4.3% ของ GDP