ไทยนับหนึ่งร่วม OECD หลังคณะมนตรีมติเอกฉันท์ รับเข้ากระบวนการเป็นสมาชิก

19 มิ.ย. 2567 | 04:28 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2567 | 04:36 น.

ประเทศไทย เตรียมเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD หลังได้รับข่าวดี คณะมนตรีมติเอกฉันท์รับเข้ากระบวนการเป็นสมาชิกเรียบร้อยแล้ว

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ของประเทศไทย 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 คณะมนตรี OECD (OECD Council) ซึ่งประกอบด้วย 38 ประเทศสมาชิก มีมติเอกฉันท์เห็นชอบเปิดการหารือกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (accession discussion) กับประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญที่ไทยจะมีบทบาทในเวทีโลกและยกระดับประเทศสู่มาตรฐานสากลในทุกมิติ

สำหรับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลวิจัยและ คำปรึกษา แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมความมั่นคง ความเท่าเทียม ความเป็นอยู่ที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจุบัน OECD มีสมาชิกทั้งหมด 38 ประเทศ จากภูมิภาคยุโรป อเมริกาเหนือ ลาตินอเมริกา และเอเชียแปซิฟิก

ขณะเดียวกัน OECD ยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของตราสารทาง กฎหมาย (OECD legal instruments) ข้อแนะนำ และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับระดับสากล

 

ภาพประกอบข่าว องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

ทั้งนี้หลังจากคณะมนตรี OECD ได้เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก แล้วในขั้นตอนถัดไป เลขาธิการ OECD จะจัดทำแผนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Roadmap) ให้กับประเทศไทย ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่จะระบุขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิกและรายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ 

โดยตลอดกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก ประเทศไทยจะต้องดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการ OECD (OECD Committee) อย่างใกล้ชิด ในการปรับปรุงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD เพื่อบรรลุการเข้าเป็นสมาชิก (full member) ในอนาคต

นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสศช. กล่าวก่อนหน้านี้ว่า หากคณะมนตรี OECD มีมติรับไทยเข้าสู่กระบวนการแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนที่ประเทศไทยต้องดำเนินการปรับกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD โดย สศช. คาดว่าอาจใช้เวลาประมาณ 5 ปี ซึ่งน้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่เข้าเป็นสมาชิก OECD ไปแล้ว เช่น โคลอมเบีย และคอสตาริกา ที่ใช้เวลาประมาณ 9 ปี 

ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาไทยและ OECD มีความร่วมมือที่เข้มแข็งมายาวนาน และได้ปรับมาตรฐานเรื่องต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับ OECD แล้วระดับหนึ่ง ผ่านการดำเนินโครงการ  OECD-Thailand Country Programme ระยะที่ 1 (ปี 2561 – 2564) และระยะที่ 2 (ปี 2566 – 2569)

 

ไทยนับหนึ่งร่วม OECD หลังคณะมนตรีมติเอกฉันท์ รับเข้ากระบวนการเป็นสมาชิก

ย้อนภูมิหลังก่อนไทยร่วม OECD

ประเทศไทยและ OECD มีความร่วมมือมายาวนานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2543 ที่ไทยเข้าร่วมโครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) และมีความร่วมมือที่เข้มแข็งมากขึ้นในปี 2561 เป็นต้นมา ผ่านการดำเนินโครงการ OECD-Thailand Country Programme (CP) 

มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ไทยเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ส่งเสริมการปฏิรูปของไทยหลากหลายสาขา อาทิ หลักธรรมาภิบาลขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาทุนมนุษย์ และการฟื้นฟูสีเขียว โดยปัจจุบัน ไทยและ OECD อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 โดยมี สศช. เป็นหน่วยงานประสานหลัก กำหนดเสร็จสิ้นโครงการในปี 2567

ต่อมาเมื่อปี 2565 คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ศึกษาถึงความพร้อมความเป็นไปได้และประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่ง กต. ได้จ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ศึกษาเรื่องดังกล่าว โดยผลการศึกษาพบว่า ไทยจะได้รับประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิกแบบ full member มากกว่า non-member

จากการดำเนินความร่วมมือที่เข้มแข็งมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้ไทยมีมาตรฐานที่สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD ในระดับหนึ่ง กอปรกับผลการศึกษาของ TDRI นั้น สศช. จึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูลการประเมินความพร้อมและความเห็นของหน่วยงานต่อการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อประกอบการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี 

โดย ครม. เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงเจตจำนงของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD พร้อมทั้งมอบหมายให้ สศช. และ กต. เป็นหน่วยงานประสานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย

จากนั้นเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 กต. ได้ยื่นสำเนาหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี ให้กับ OECD ซึ่งถือเป็นการสมัครเข้าเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ และเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567 คณะผู้แทนไทยได้เดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส เพื่อยื่นต้นฉบับหนังสือดังกล่าว 

รวมทั้งเข้าร่วมการหารือวาระพิเศษร่วมกับคณะมนตรี OECD เพื่อขอรับการสนับสนุนในการเข้าเป็นสมาชิกและเริ่มกระบวนการพิจารณาโดยเร็ว พร้อมน าเสนอจุดแข็งของไทยและผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับร่วมกันจากการเข้าเป็นสมาชิกของไทย ภายใต้แนวคิด “ประเทศไทยที่พึ่งพาได้และมีพลวัต” (reliable and impactful Thailand)

จนล่าสุด คณะมนตรี OECD เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ได้มีมติเอกฉันท์เห็นชอบเปิดการหารือกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (accession discussion) กับประเทศไทย

 

ภาพประกอบข่าว องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

 

ประโยชน์-ผลกระทบ OECD

การเข้าเป็นสมาชิก OECD เต็มรูปแบบ จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ในหลายด้าน อาทิ การปฏิรูปโครงสร้างหลายมิติและมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสเข้าถึงตลาดประเทศสมาชิก การเข้าถึงฐานข้อมูลเศรษฐกิจโลกที่หลากหลาย การได้รับคำปรึกษาและความช่วยเหลือทางวิชาการจาก OECD และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและส่งเสริมบทบาทไทยในเวทีโลก

อย่างไรก็ตาม การเข้าเป็นสมาชิกอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในบางเรื่อง โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากการเข้าเป็นภาคีตราสารทางกฎหมายของ OECD ที่มีผลผูกพันกฎหมายภายในประเทศของไทย (legally binding) อาทิ การแข่งขันทางการค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น ความผันผวนต่ออัตราแลกเปลี่ยนจากการไหลเข้าออกของเงินทุนระยะสั้น และการเปิดเสรีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 

ทั้งนี้ OECD เปิดให้ประเทศสมาชิกสามารถจัดทำข้อสงวนการลงทุนในบางกิจการให้เฉพาะผู้ประกอบการภายในประเทศได้ รวมถึงการเจรจาขอจัดทำข้อสงวนอื่น ๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ ซึ่งไทยจะต้องดำเนินการภายในประเทศเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD อย่างเต็มรูปแบบ