เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ถือเป็นหนึ่งในอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปีของประเทศไทย ส่งผลกระทบอย่างหนักในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ “เศรษฐกิจ” มีมูลค่าความเสียหายรวมสูงถึงกว่า 1.4 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังมีประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กว่า 12.8 ล้านคน
อุทกภัยครั้งนี้ได้สร้างความหวาดกลัวและเป็น “บทเรียนราคาแพง” ให้คนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภาคอุตสาหกรรม” ที่ต้องเผชิญกับความเสียหายอย่างหนัก มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ถึง 7 แห่ง ได้รับความเสียหาย ส่งผลให้รายได้ของประเทศจากการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสูญเสียไปกว่า 3.5 เเสนล้านบาท
แน่นอนว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้คนไทยตระหนักถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นเรื่องใกล้ตัวและจำเป็นต้องมีเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ เช่นเดียวกันกับ “การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ.” ซึ่งเป็นหน่วยงานสำหรับจัดหาพื้นที่ให้โรงงานอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นระบบ รวมถึงให้บริการระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโรงงานของนิคมอุตสาหกรรม
ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. รับผิดชอบ 68 นิคมฯ 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม เปิดดำเนินการจริง 42 แห่ง รวมพื้นที่มากกว่า 1.9 เเสนไร่ มีโรงงานทั้งหมดเกือบ 5,000 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 13 ล้านล้านบาท มีเเรงงานอยู่ในนิคมต่างๆ ประมาณ 8.5 เเสนคน
ปี 2567 มีการคาดการณ์ว่า ในช่วงต้นไตรมาสที่สามของปี ไปจนถึงช่วงต้นไตรมาสแรกของปี 2568 ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับ ปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีฝนตกหนักในพื้นที่หลายจังหวัด น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเเละไม่ได้พบได้บ่อย
การนิคมอุตสาหกรรม ได้วางแผนเชิงรุกป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้มีความคงทนแข็งแรงมากขึ้น การจัดเตรียมระบบระบายน้ำและพื้นที่รองรับน้ำท่วมชั่วคราว รวมถึงการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและการอพยพเคลื่อนย้ายในกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถรักษาการผลิตและลดความเสียหายจากน้ำท่วมได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเเรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย
“นายยุทธศักดิ์ สุภสร” ประธานกรรมการ คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.เตรียมความพร้อมให้มีการทบทวนแผนการจัดการเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะน้ำท่วม ได้กำหนดให้มีการซ้อมแผนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีศูนย์เฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ซึ่งเป็นหน่วยสนับสนุนข้อมูล 24 ชั่วโมง กรณีที่เกิดภัยพิบัติ
ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ตรวจสอบ ขุดลอกกำจัดวัชพืช ทำความสะอาดรางระบายน้ำฝนภายในนิคมอุตสาหกรรม จัดทำคันกั้นน้ำชั่วคราวหรือเตรียมกระสอบทรายกั้นน้ำท่วม ตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้ดีและจัดเตรียมหาเชื้อเพลิงให้เพียงพอ พร้อมเตรียมเครื่องสูบน้ำเสริม รวมทั้งประสานงานกับหน่วยภายนอกที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทานเพื่อขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม ขณะเดียวกันได้เร่งตรวจสอบซ่อมแซมบำรุงรักษาความมั่นคงแข็งแรงของคันป้องกันน้ำท่วมและทดสอบประตูระบายน้ำ เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของนิคมอุตสาหกรรม เเต่ละแห่งไม่เหมือนกัน เช่น บางแห่งคันป้องกันน้ำท่วมอยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการในขณะนี้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ นิคมฯ ที่ กนอ.ดำเนินการเอง 15 แห่ง และนิคมร่วมดำเนินงานกับภาคเอกชนเกือบ 53 แห่ง ดังนั้น ความเข้มข้นของการเตรียมพร้อมอาจจะแตกต่างกัน
“กนอ.ให้ความสำคัญกับนิคมฯ ที่มีผู้ประกอบการตั้งอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิคมที่ กนอ.ดำเนินการ ซึ่งสามารถใช้งบประมาฯของ กนอ.ในการเตรียมรับมือได้ ส่วนนิคมฯภายใต้ร่วมดำเนินการคงจะต้องซักซ้อมเเผนป้องการเเละตรวจสอบ เพราะเรื่องนี้ละเลยไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นนิคมที่ กนอ.ดำเนินการเอง หรือนิคมร่วมดำเนินการ ต้องมีความพร้อมเพราะความเสียหายไม่เลือกว่าเป็นนิคมของใคร จะเป็นโรงงานไหน ถ้าเกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบ ดังนั้นต้องให้เกิดความมั่นใจทั้งเรื่องแผน เเละการเตรียมพร้อม”
ประธาน กนอ. ยืนยันว่า การประเมินความเสี่ยงกรณีน้ำท่วมของนิคมอุตสาหกรรมดำเนินการอย่างครอบคลุมและเป็นปัจจุบัน เนื่องจากมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของนิคมที่ กนอ.ดำเนินการเอง เนื่องจากผู้ประกอบการโดยเฉพาะที่เข้าไปตั้งโรงงานในนิคมฯ หลังจากน้ำท่วมปี 54 สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือ “ค่าเบี้ยประกัน” สูงขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับหอการค้าไทยเเละสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการทำให้เกิดความมั่นใจภายใต้ระบบการกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าจะป้องกันน้ำท่วมเพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถช่วยลดค่าเบี้ยประกันลงได้
ประธาน กนอ.กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเป็น การติดตามสภาพอากาศ การคาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่ การซ่อมบำรุงซ่อมเครื่องสูบน้ำหรือการพร่องน้ำในพื้นที่นิคมให้ต่ำเพื่อให้นิคมสามารถเป็นพื้นที่แก้มลิง กรณี นิคมอุตสาหกรรมบางปู ปี 2566 ได้ก่อสร้างระบบระบายน้ำ และป้องกันน้ำท่วม โดยติดตั้งระบบเฝ้าระวังและไฟส่องสว่าง รวมถึงระบบน้ำอัจฉริยะและระบบ SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition : ระบบตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์) เพื่อการลดการระบายน้ำออกสู่คลองสาธารณะ รวมทั้งระบายน้ำจากรางระบายน้ำในซอยต่าง ๆ และสูบระบายลงสู่คลองชายทะเล รวมทั้งปิดจุดอ่อนบริเวณแนวขอบคันดินของพื้นที่ที่มีระดับต่ำเพื่อป้องกันน้ำจากภายนอกไหลเข้าพื้นที่
อย่างไรก็ดี การติดตั้งระบบดังกล่าว ควรให้ครอบคลุมนิคมฯ ทั้งหมด แต่เนื่องจากการลงทุนมีงบประมาณค่อนข้างที่สูง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่า นิคมฯ ใดอยู่ในพื้นที่ต่ำก็ต้องนำระบบป้องกันที่ดี รวมทั้งนำเทคโนโลยีที่ดี และทำให้เกิดความมั่นใจ ไม่เฉพาะในส่วนของนักลงทุนชุมชนที่อยู่รอบนิคมก็จะต้องไม่ประสบอุทกภัยเช่นกัน
“การพัฒนาเทคโนโลยีเทคโนโลยีในส่วนของ กนอ.ต้องจัดลำดับความสำคัญ โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมไหนอยู่ในความเสี่ยง ต้องเร่งสร้างระบบ ขณะเดียวกันนิคมฯ ร่วมดำเนินการต้องสร้างความมั่นใจว่ามีระบบที่นำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างน้อยที่สุดโครงสร้างพื้นฐานจะต้องป้องกันได้ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มีต้นทุน จึงต้องทำให้เห็นความสำคัญของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อน คนถึงจะลงทุน หากเกิดขึ้นมูลค่าความเสียหายจะมากกว่ามูลค่าการลงทุน ดังนั้นจำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลสร้างความมั่นใจและพัฒนาไปด้วยกันไม่ใช่เฉพาะคนที่อยู่ในนิคมฯ”
ประธาน กนอ. ทิ้งท้ายว่า กรณีน้ำท่วมปี 54 มีการเยียวยาตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.บรรเทาภัยสาธารณะ ในส่วนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป็นส่วนที่รับผิดชอบโดยตรงของกระทรวงอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในครั้งนั้น สิ่งที่ กนอ.เข้าไปช่วย คือ การช่วยเหลือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ขนย้ายเครื่องจักรอุปกรณ์วัสดุ วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ ออกนอกเขต เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติก็ช่วยตรวจสอบในการเคลื่อนย้ายกลับคืน อำนวยความสะดวกพิธีการศุลกากรเนื่องจากบางครั้งอยู่ในฟรีเทรด การอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานภายใต้กฎหมายสามารถทำทันที จัดทีมงานให้คำปรึกษา เร่งรัดให้บริษัทประกันจ่ายสินไหมทดแทน รวมทั้งแก้ไขข้อพิพาทระหว่างโรงงานกับบริษัทประกัน รวมถึงการทำระบบจับคู่ธุรกิจ (Business Matching)
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้รับการช่วยเหลือจากส่วนอื่น เช่นกระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ เพื่อให้ฟื้นฟูกิจการได้เร็วที่สุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีการผ่อนผันเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ ทั้งธนาคารรัฐ เเละเอกชนจะมีมาตรการในการช่วยเหลือทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการพักหนี้ ชำระเงินต้น สินเชื่อหมุนเวียน เช่นเดียวกันกับความช่วยเหลือด้านภาษีจะมีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวมถึงการขยายเวลายื่นแบบรายการภาษีสรรพากร สำหรับผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่ประสบภัย ฯลฯ
“เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น มองว่าความเร็วของการรับมือ ความสามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นและการเยียวยาทั้งกายภาพ ซึ่งหมายถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะน้ำท่วมและสร้างความเชื่อมั่นว่าเมื่อเกิดเกิดขึ้นแล้วสามารถช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างทันท่วงทีและสมเหตุสมผลกับสิ่งที่เกิดขึ้น”
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4003 วันที่ 23- 26 มิถุนายน พ.ศ. 2567