จีนถล่มตลาด-โรงงานไทยกำลังผลิตวูบ 15 กลุ่มอุตฯเสี่ยงปิดตัวเพิ่ม

23 มิ.ย. 2567 | 04:04 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2567 | 04:16 น.

15 กลุ่มอุตสาหกรรมเสี่ยงปิดตัวเพิ่ม สัญญาณอันตราย อัตราการใช้กำลังผลิตไม่ถึง 50% สิ่งทอ เสื้อผ้า อาหาร เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติกติดโผ กำลังซื้อในประเทศหดตัว สินค้าจีนแย่งตลาดทั้งในและนอกประเทศ ผงะ 3 ปี 5 เดือนปิดตัวแล้ว 3,573 โรง ลุ้นครึ่งปีหลังโงหัว

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ณ เดือนเมษายน 2567 ปรับตัวดีขึ้นหลังชะลอตัวต่อเนื่องมา 18 เดือน อย่างไรก็ดีในแง่การใช้อัตรากำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยในภาพรวมยังอยู่ที่ 55.26% ถือเป็นการใช้กำลังการผลิตที่ยังต่ำ สะท้อนตัวเลขในช่วง 3 ปี 5 เดือนล่าสุด (ปี 2564-พ.ค. 2567)  ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีโรงงานปิดตัวไปแล้วรวม 3,573 โรง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมไทยในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมากระทบการส่งออกสินค้าไทย ตลาดในประเทศกำลังซื้อหดตัว นอกจากนี้จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่วนหนึ่งมีผลให้ผู้ผลิตปรับตัวไม่ทัน รวมถึงสินค้าที่ไทยเป็นผลิตส่วนใหญ่เป็นสินค้าดั้งเดิม ในลักษณะรับจ้างผลิต(โออีเอ็ม) และเริ่มล้าสมัย

ขณะที่ต้องแข่งขันรุนแรงกับสินค้าราคาต่ำจากต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจีนที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศในทุกช่องทาง การแข่งขันกับสินค้าจีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และจากประเทศอื่นในตลาดส่งออก ที่สินค้าไทยเสียเปรียบต้นทุนการผลิต จากค่าไฟฟ้า ค่าจ้างแรงงาน และดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่า

ล่าสุดสงครามการค้ารอบใหม่ สหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนอีกนับร้อยรายการในอัตรา 25-100% ส่งผลให้สินค้าจีนส่งไปขายในตลาดสหรัฐฯรวมถึงสหภาพยุโรปถูกกีดกัน และมีต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ต้องระบายสินค้ามายังตลาดเอเชียและอาเซียนที่รวมถึงไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทยไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีอย่างเป็นรูปธรรมเร่งด่วน จะส่งผลให้โรงงานผลิตในไทยอาจต้องทยอยปิดตัวมากขึ้น

จีนถล่มตลาด-โรงงานไทยกำลังผลิตวูบ 15 กลุ่มอุตฯเสี่ยงปิดตัวเพิ่ม

15 อุตฯ เสี่ยงทยอยปิดตัวเพิ่ม

สอดคล้องกับการตรวจสอบข้อมูลจาก ส.อ.ท.ของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า ล่าสุด ณ เดือนเมษายน 2567 อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยในภาพรวมเฉลี่ยที่ 55.26% โดยที่มีมากกว่า 15 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่า 50% (38-49%) ซึ่งมีความเสี่ยงอาจปิดตัวเพิ่มหากสถานการณ์ข้างหน้าไม่ดีขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร, สิ่งทอ, เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย, เครื่องหนังและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง, ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก, ยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งพ่วง, อุปกรณ์ขนส่งอื่นๆ, เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค และผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ที่ใช้รักษาโรค, ยาสูบ, โลหะขั้นมูลฐาน, ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำจากแร่อโลหะ, ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ (ยกเว้นเครื่องจักรและอุปกรณ์), ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์, และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

จีนถล่มตลาด-โรงงานไทยกำลังผลิตวูบ 15 กลุ่มอุตฯเสี่ยงปิดตัวเพิ่ม

คู่ค้าสต๊อกบวมยังไม่สั่งซื้อเพิ่ม

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ กรรมการที่ปรึกษา และอดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า 3-4 ปีที่ผ่านมาช่วงสถานการณ์โควิดต่อเนื่องถึงปัจจุบัน มีโรงงานเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอปิดตัวไปแล้วเกิน 10 ราย (ยังไม่มีตัวเลขผลสำรวจอย่างเป็นทางการ) โดยที่ปิดตัวไปมีทั้งโรงปั่นด้าย โรงทอผ้า โรงฟอกย้อม โรงงานเสื้อผ้าสำเร็จ เป็นผลจากเศรษฐกิจการค้าโลกที่ซบเซา รวมถึงมีสินค้าเสื้อผ้าราคาถูกจากต่างประเทศเฉพาะอย่างยิ่งจากจีนเข้ามาทำตลาดในทุกช่องทาง ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายราย เช่นในกลุ่มโรงงานผลิตเพื่อจำหน่ายในตลาดโบ๊เบ๊ ประตูน้ำ ต้องปิดโรงงาน และผันตัวเองเป็นผู้นำเข้ามาจำหน่ายแทนเพื่อความอยู่รอด

“การใช้อัตรากำลังการผลิตในกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และสิ่งทอที่ยังต่ำในเวลานี้ (ใช้กำลังผลิตอยู่ที่ 37-38%) มีปัจจัยสำคัญจากยอดสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศยังน้อย เพราะคู่ค้ายังมีสต๊อกสินค้ามากจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสั่งสินค้าเข้าไปมากจากกลัวว่าราคาวัตถุดิบจะขึ้นมากในช่วงหลังโควิด ทำให้เวลานี้ยังไม่ถึงจุดที่จะสั่งซื้อเพิ่มได้มาก แต่คาดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้สต๊อกของคู่ค้าจะลดลงและจะมีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นยาวไปถึงไตรมาสแรกปีหน้า เพื่อเตรียมการขายสำหรับซีซั่นใหม่ปี 2568 คาดจะมีผลทำให้การใช้กำลังการผลิตในภาพรวมของโรงงานเสื้อผ้าและสิ่งทอจะปรับขึ้นไปอยู่ระดับ 40-50% ได้”

ได้บอลยูโร-โอลิมปิกช่วย

อย่างไรก็ดีในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีสัญญาณที่ดีในกลุ่มเสื้อผ้ากีฬาที่ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่ม เพื่อนำไปจำหน่ายในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร และโอลิมปิก โดยทั้งปีนี้คาดการส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยจะขยายตัวในรูปดอลลาร์สหรัฐได้ที่ 5% (ปี 2566 ส่งออก 2,040 ล้านดอลลาร์ ในรูปเงินบาท 70,330 ล้านบาท) และสิ่งทอคาดจะขยายตัวในรูปดอลลาร์สหรัฐได้ 10% (ปี 2566 ส่งออก 6,034 ล้านดอลลาร์ ในรูปเงินบาท 207,966 ล้านบาท)โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา คือ สงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง และสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก

ผู้ผลิต-ผู้ซื้อลดภาระสต๊อก

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า การใช้อัตรากำลังการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ยังไม่สูงมาก (ณ เม.ย. 67 เฉลี่ยที่ 49%) มีปัจจัยจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อทั่วโลกลดลง โดยส่วนใหญ่จะจับจ่ายและซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น เน้นราคาถูก ขณะเดียวกันผู้ผลิตเองก็พยายามรักษาตัวรอดคือไม่ผลิตสต๊อกเพราะมีต้นทุนทางการเงินสูง เกรงต้องแบกต้นทุนทำให้ขาดสภาพคล่อง เฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย หรือเอสเอ็มอีไม่กล้าที่จะผลิตสินค้าสต๊อก เพราะอาจทำให้มีปัญหาสภาพคล่อง

ขณะที่การกู้เงินจากธนาคาร หรือสถาบันการเงินก็ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะนอกจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังสูงแล้ว ทางแบงก์จะเคร่งครัดในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ แม้ล่าสุดคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะอนุมัติให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)ช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท แต่ในทางปฏิบัติและการเข้าถึงแหล่งเงินไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้ง บสย.และทางธนาคารต้องเลือกลูกค้าเช่นกัน

สินค้าจีนขายตัดราคา 20-30%

“เวลานี้กำลังซื้อทั่วโลกลดลง ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็นแบบไม่ซื้อไปสต๊อกเพื่อลดความเสี่ยง และพยายามผลักดันทุกอย่างมาอยู่ที่ผู้ผลิตหมดเลย ซึ่งผู้ผลิตก็รู้ว่าถูกผลักภาระก็ไม่กล้าทำสต๊อกเก็บไว้เหมือนกัน ขณะที่จะไปมุ่งเน้นการผลิตสินค้ามาตรฐานสูง ราคาสูง ก็มีความเสี่ยงเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภคปลายทาง นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงจากสินค้าราคาถูกจากจีนที่ส่งไปขายทั่วโลก ซึ่งในภาพรวมแล้วสินค้าจีนจะขายถูกกว่าเรา 20-30% ซึ่งแม้ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อจะรู้ว่าสินค้าอาจมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ แต่จากกำลังซื้อที่ลดลง ผู้บริโภคลดการจับจ่าย ผู้นำเข้ายังไงก็เสี่ยงซื้อของถูกไว้ก่อน เพราะอย่างน้อยยังพอปล่อยของได้”

อย่างไรก็ตามทิศทางแนวโน้มการใช้อัตรากำลังผลิตกลุ่มอาหารคาดจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 50-60% ในครึ่งหลังของปีนี้ และทิศทางการส่งออกน่าจะดีขึ้น จากทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้าต่างพยายามลดภาระเรื่องสต๊อกของตัวเองในครึ่งปีแรก แต่ในครึ่งปีหลังตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 คาดสต๊อกจะเริ่มร่อยหรอ มีความจำเป็นต้องนำเข้าเพิ่ม จะทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ทั้งปีนี้ยังต้องลุ้นว่าเป้าหมายการส่งออกอาหารของไทยที่ 1.6 ล้านล้านบาท จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ จากเวลานี้ในกลุ่มสินค้าอาหารที่การส่งออกยังไปได้ดี ได้แก่ กลุ่มผลไม้ ไก่สด ข้าว และน้ำตาล ขณะที่กลุ่มที่เริ่มติดลบคือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบ

สภาอุตฯกังวลแนวโน้มปิดตัวเพิ่ม

ด้านหม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์ ผู้ประกอบการที่ทยอยปิดตัวต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้มีผู้ประกอบการปิดโรงงานไป 561 โรง แรงงานตกงาน 15,342 คน หรือเฉลี่ยเดือนละ 3,000 คน ในจำนวนนี้โรงงานที่ปิดตัวมากที่สุดอยู่ในอุตสาหกรรมพลาสติก 12 โรง อุตสาหกรรมโลหะ 11 โรง และอุตสาหกรรมไม้แปรรูป 8 โรง ทั้งนี้ผู้ประกอบการยังมีความกังวลว่า จากภาระต้นทุนการผลิตยังสูง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนด้านพลังงาน ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนดอกเบี้ย หากไม่รับการแก้ไขหรือช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภาครัฐอาจเห็นการปิดตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่นายนาวา จันทนสุรคน รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ห่วงภาวะเศรษฐกิจในปัจุบันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการทยอยปิดตัวเพิ่ม ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้นกว่า 2 ปีที่ผ่านมา จากผลกระทบสงครามการค้าที่สหรัฐและยุโรปตอบโต้ และกีดกันสินค้าจีน ทำให้มีสินค้าจีนเข้ามาแข่งขันมากขึ้นทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก