ตัวเลขเศรษฐกิจไทยประเดิมไตรมาสแรกปี 2567 ขยายตัวเพียง 1.5% โดยภาคการส่งออก 4 เดือนแรกขยายตัว 1.4% (รูปดอลลาร์สหรัฐ ) ส่วนภาคท่องเที่ยว ช่วงตั้งแต่เดือนมกราคมถึง 8 มิถุนายน 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวไทยทั้งสิ้น 15.4 ล้านคน จากทั้งปีนี้รัฐบาลขยับเป้าหมายเป็น 36.7 ล้านคน
ทั้งนี้ยังมีหลายปัจจัยที่น่าห่วงและเสี่ยงกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาทิ การใช้กำลังผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยยังชะลอตัวติดต่อกันถึง 18 เดือน ตัวเลขล่าสุดในเดือนเมษายน 2567 อัตราการใช้กำลังผลิตในภาพรวมเฉลี่ยที่ 55% จากตลาดในประเทศต้องแข่งขันรุนแรงกับสินค้าจีนที่ส่งเข้ามาจำหน่ายในราคาตํ่า ส่วนตลาดส่งออกต้องแข่งขันรุนแรงเช่นกันกับสินค้าจีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย จากเป็นสินค้าที่ผลิตคล้าย ๆ กัน แต่สินค้าไทยเสียเปรียบต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า จากต้นทุนพลังงาน และค่าจ้างแรงงาน ทำให้ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาโรงงานผลิตสินค้าของไทยปิดตัวไปแล้วมากกว่า 3,500 โรงงาน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปิดตัวของโรงงานผลิตสินค้าของไทยมีแนวโน้มจะทยอยปิดตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกของ ส.อ.ท.ใน 46 กลุ่มสินค้า ส่วนใหญ่ยังเป็นการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมดั้งเดิม ในลักษณะรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) เริ่มเป็นสินค้าล้าสมัย ที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
เพื่อยกระดับการแข่งขันทาง ส.อ.ท. โดยคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ (วาระปี 2567-2569) ได้เร่งปรับโครงสร้างการผลิตของไทย โดยผลักดันให้สมาชิกมุ่งสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ตอบโจทย์เทรนด์ใหม่ ๆ ของโลกเพื่อความยั่งยืน โดยใช้พลังงานสะอาด เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว เป็นอุตสาหกรรมตาม BCG Model (Bio-Circular-Green) และเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยลดโลกร้อน ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทยให้สามารถขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ให้ขยายตัวได้ไม่ตํ่ากว่า 5% ต่อปีในอนาคต
“ทางสภาอุตสาหกรรมฯ ยังอยู่ระหว่างการผลักดันสมาชิก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม สู่สมาร์ทเอสเอ็มอี ใน 4Go คือ Go Digital & AI, Go Innovation, Go Global และ Go Green ซึ่งทั้งหมดนี้จะเร่งให้บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรมในช่วง 2 ปีนับจากนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการปิดตัวของโรงงาน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ และมูลค่าการส่งออกใหม่ให้กับประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน”
นายเกรียงไกร ยอมรับว่าจากที่การส่งออกในกลุ่มสินค้ายานยนต์ของไทย ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาเป็นการส่งออกรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน(รถยนต์ใช้นํ้ามันเป็นเชื้อเพลิง)เป็นหลัก เวลานี้ตลาดยานยนต์โลกกำลังปรับเปลี่ยนสู่รถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า(EV) ช่วงรอยต่อที่ไทยดึงค่ายรถยนต์ต่างชาติมาลงทุนรถยนต์ EV อาจกระทบตัวเลขการส่งออกรถยนต์สันดาปอาจจะลดน้อยถอยลงไป
“อย่างไรก็ดี ล่าสุดรัฐบาลจะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ช่วยคํ้าประกันสินเชื่อธนาคารวงเงิน 50,000 ล้านบาทโดยจะจัดสรรวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 8,275 ล้านบาท มองว่าจะสามารถช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงิน และช่วยต่อลมหายใจได้ระดับหนึ่ง ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาล” นายเกรียงไกร กล่าว