นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยปรับขึ้นราคาค่าขนส่ง 9% จากราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 32.94 บาทต่อลิตร ว่า การปรับขึ้นดังกล่าวย่อมทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงต้นทุนของผู้ประกอบการโดยเฉพาะสินค้าที่มีขนาดใหญ่ หรือใช้พื้นที่ค่อนข้างมากมีต้นทุนที่สูงขึ้น
หากถามว่ากรณีดังกล่าว จะมีผลทำให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ คงต้องเรียนว่ามีโอกาส แต่อาจจะไม่ปรับขึ้นแบบทันทีทันใด ซึ่งค่าขนส่งที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 9% ถือว่าสูงมาก เพราะครั้งนี้ไม่ใช่แค่ 2-3% แต่ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังซื้อในประเทศเปราะบาง ผู้ประกอบการเองคงต้องหาวิธีการปรับขึ้นราคาสินค้า เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคมากนัก
"ท้ายที่สุดแล้วสินค้าที่มีกำไรต่ำ และต้องขนย้ายในปริมาณที่มากจะได้รับผลกระทบก่อน ซึ่งอาจจะต้องมีการพิจารณาปรับขึ้นราคาเป็นลำดับต้น ๆ แต่หากเป็นสินค้าที่ขนาดไม่ใหญ่ หรือชิ้นเล็ก ใช้พื้นที่ในการขนส่งไม่มาก อาจจะต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อนว่ากำลังซื้อจะกลับมาหรือไม่ หากไม่ไหวจริง ๆ ถึงที่สุดแล้วก็ต้องปรับขึ้นราคาตามค่าขนส่ง"
อย่างไรก็ดี มองว่าระยะเวลาที่ผู้ประกอบการจะประคองสถานการณ์ไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าตามค่าขนส่ง น่าจะอยู่ที่ประมาณ 3 เดือน หากรัฐบาลยังไม่มีมาตรการออกมาช่วยเหลือภาคขนส่ง โดยการปรับขึ้นราคาจะขึ้นอยู่กับชนิดสินค้า และสภาพการแข่งขันในตลาด หรือคู่แข่ง ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยประกอบกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วยังมองว่าคงไม่ได้ขึ้นทีเดียว 9% ตามค่าขนส่ง บางธุรกิจ หรือบางอุตสาหกรรมอาจจะปรับขึ้นแค่ 4-5% ขึ้นอยู่กับสภาพธุรกิจ และการแข่งขัน หรือคู่แข่งที่แตกต่างกัน
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมที่จะปรับขึ้นก่อนคืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก และใช้พื้นที่ในการขนส่งมาก โดยมีค่าขนส่งเป็นต้นทุนส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบหนัก เช่น รถบรรทุกขนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเต็มตู้ ซึ่งมีน้ำหนักน้อย แต่ใช้พื้นที่มากก็จะได้รับผลกระทบ แต่ของที่มีมูลค่ามาก ใช้พื้นที่ไม่มากขนส่ง 1 ตู้ ก็ถือว่าได้รับผลกระทบไม่มาก
แต่หากเป็นกลุ่มสินค้าสุขภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดใหญ่จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น จะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับชนิดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่มาก น้ำหนักมาก ก็จะมีความเสี่ยงในการปรับราคาขึ้น เพราะต้นทุนค่าขนส่งสูง
อย่างไรก็ตาม หากถามว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยอย่างไร ในอดีตภาคเอกชนก็มีการเรียกร้องมาตลอดให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซล จนทำให้ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะที่ติดลบเกิน 1 แสนล้านบาท จนไม่สามารถแบกรับภาระได้อีกต่อไป จนต้องปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลมาอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร ณ ปัจจุบัน
ทั้งนี้รัฐบาลเองต้องหาข้อมูลในการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องเดิมที่ภาคเอกชนเคยนำเสนอ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ไม่เช่นนั้นก็จะกลับไปอยู่ในสถานะเดิมอีก
"ต้องยอมรับว่าในสภาวะของโลกที่ยังมีความผันผวน หรือมีความไม่แน่นอนสูงจากภาวะสงคราม หรือปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกดดันให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าลดลง เพราะฉะนั้นจึงมองว่าน่าจะถึงเวลาที่จะมีการปฏิรูป หรือปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ทั้งหมด และปรับรูปแบบการขนส่งที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความสมดุลในการหาต้นทุนที่ดีที่สุด เหมือนประเทศอื่นที่การขนส่งส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบทางน้ำ ราง แต่ไทยยังเน้นทางบก หรือรถบรรทุกเป็นหลัก โดยจะต้องทำแบบคู่ขนาน เพื่อวางแผนในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว"