วันที่ 25 มิถุนายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติและรับทราบตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการและศาลแรงงานจังหวัดระยอง พ.ศ. .... กำหนดให้มีการจัดตั้งศาลแรงงานขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดระยอง
นายคารมกล่าวว่า นอกจากนี้ยังอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กำหนดให้เมื่อเปิดทำการศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่ของศาลแรงงานภาคใด ห้ามมิให้ศาลแรงงานภาคดังกล่าวรับคดีที่อยู่ในท้องที่ของศาลแรงงานจังหวัดนั้นไว้พิจารณาพิพากษา และกำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาครับผิดชอบงานของศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่
นายคารม กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรม เสนอว่า เนื่องจากจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดระยองมีปริมาณคดีแรงงานเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมากจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดและจำนวนผู้ใช้แรงงานที่เพิ่มมากขึ้น แม้ในปัจจุบันจะมีการเปิดทำการสาขาของศาลแรงงานภาค 1 (สาขาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) และภาค 2 (สาขาจังหวัดระยอง) อยู่แล้วก็ตาม แต่การเปิดทำการสาขาของศาลชั้นต้นดังกล่าว ต้องเกลี่ยอัตรากำลังของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในศาลนั้นมาปฏิบัติหน้าที่ ณ ที่ทำการสาขาทั้ง 2 สาขา ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเกิดความล่าช้าและไม่สะดวกแก่คู่ความในท้องที่
เห็นสมควรให้มีการจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการให้มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดสมุทรปราการ และจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดระยองขึ้นในจังหวัดระยอง ให้มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดระยอง เพื่อให้การพิจารณาแรงงานเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนในท้องที่ได้ดียิ่งขึ้น และมีความพร้อมในด้านอัตรากำลังของผู้ปฏิบัติงานในศาลจังหวัดครบถ้วนทุกส่วนงานรองรับภารกิจดังกล่าว
ทั้งนี้ ศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ โดยคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร จำนวน 63,901,038 บาท ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการ จำนวน 10,821,312 บาท และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน จำนวน 363,955,360 บาท ทำให้จะต้องใช้งบประมาณในระยะ 3 ปีแรก ประมาณ 438,677,710 บาท อัตรากำลังข้าราชการตุลาการที่ต้องใช้ 6 อัตรา และอัตรากำลังข้าราชการศาลยุติธรรมที่ต้องใช้ 24 อัตรา
ศาลแรงงานจังหวัดระยอง โดยคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร จำนวน 55,383,438 บาท ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการ จำนวน 8,215,704 บาท และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (ยังไม่สามารถจัดหาที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุสำหรับใช้ก่อสร้างอาคารสถานที่ จึงไม่อาจระบุค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในส่วนของการก่อสร้างอาคารศาลได้) จำนวน 11,092,360 บาท ทำให้จะต้องใช้งบประมาณในระยะ 3 ปีแรก ประมาณ 74,691,502 บาท อัตรากำลังข้าราชการตุลาการที่ต้องใช้ 4 อัตรา และอัตรากำลังข้าราชการศาลยุติธรรมที่ต้องใช้ 24 อัตรา