สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิง กระทรวงแรงงาน ของไทยเปิดเผยว่า รัฐบาลไทยจะส่งแรงงานไปยัง อิสราเอล ในสัปดาห์นี้ หลังจากที่ได้ระงับ การจัดส่งแรงงาน เป็นเวลา 8 เดือน อันเป็นผลจากการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา
ข่าวระบุว่า แรงงานไทยชุดแรกราว 100 คนจะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังอิสราเอลในวันนี้ (25 มิ.ย.) ก่อนที่แรงงานชุดที่ 2 จะออกเดินทางในช่วงต้นเดือนก.ค. ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าที่จะส่งแรงงานมากกว่า 10,000 คนไปยังอิสราเอลภายในสิ้นปี 2567
ก่อนหน้านี้ แรงงานไทยราว 30,000 คนได้ทำงานในภาคการเกษตรของอิสราเอลในช่วงก่อนเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในวันที่ 7 ต.ค.2566
ข้อมูลจากรัฐบาลไทยระบุว่า แรงงานไทยเสียชีวิต 39 รายเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2566 และถูกจับเป็นตัวประกันจำนวน 32 ราย และล่าสุดคาดว่าตัวประกัน 6 รายยังคงถูกควบคุมตัวในฉนวนกาซา
ทั้งนี้ ที่กระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในพิธีมอบโอวาทแก่แรงงานไทย 309 คน ที่เข้ารับการอบรมก่อนเดินทางไปทำงานรัฐอิสราเอล ว่า ทางกระทรวงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของแรงงานไทยเป็นลำดับแรก โดยหลังจากกรมการจัดหางานประกาศ “ยกเลิกการชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในรัฐอิสราเอล ทุกวิธีการเดินทาง” ภายใต้เงื่อนไขว่า แรงงานไทยจะเดินทางไปทำงานใน "พื้นที่สีเขียว" ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย
ล่าสุดได้เตรียมจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล ระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมแล้ว จำนวน 540 คน โดยก่อนเดินทางไปทำงานรัฐอิสราเอล จะต้องมีการอบรมคนหางาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้แรงงานไทยมีความรู้ความเข้าใจ ทราบเงื่อนไขตามสัญญาจ้างงาน สภาพการจ้าง และขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี ทราบสิทธิประโยชน์ และการคุ้มครองคนหางานตามกฎหมาย รวมทั้งทราบช่องทางขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีเกิดปัญหาขณะทำงาน แนวปฏิบัติ/รับมือ สถานการณ์ฉุกเฉิน/ภาวะสงคราม
“ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จะจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานรัฐอิสราเอล หลังชะลอการเดินทางมากกว่า 8 เดือน วันนี้จึงมีแรงงานไทยเข้ารับการอบรมก่อนเดินทางไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอลถึง 309 คน ทั้งหมดจะทยอยเดินทางในวันที่ 25 – 26 มิถุนายน 2567 และวันที่ 2 – 3 กรกฎาคม 2567 คาดว่าจะสามารถส่งแรงงานไทยไปทำงานรัฐอิสราเอลตามเป้าหมาย 10,000 คน ภายในปีนี้” รมว.แรงงานกล่าว และยังเผยว่า จากการพูดคุยกับพี่น้องแรงงานไทยที่เข้ารับการอบรมก่อนเดินทางไปทำงานที่อิสราเอล ทราบว่าส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอุดรธานี เชียงราย นครพนม บุรีรัมย์ และนครราชสีมา
ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีการจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศแล้ว 67,208 คน โดยรัฐอิสราเอลถือเป็นประเทศหนึ่งใน 5 อันดับแรก ที่แรงงานไทย มีความประสงค์ที่จะเดินทางไปทำงาน (5 ประเทศแรกที่คนไทยไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น รัฐอิสราเอล และมาเลเซียตามลำดับ) โดยทำงานภาคเกษตรเป็นลำดับแรก รองลงมา คือ ภาคบริการและร้านอาหาร ในตำแหน่ง หัวหน้าพ่อครัว และคนปรุงอาหาร ในร้านอาหารไทย จีน และญี่ปุ่น ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในรัฐอิสราเอล ปัจจัยหลักส่วนหนึ่ง มาจากรายได้ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 50,000 – 55,000 บาทต่อเดือน
“รัฐบาลไทยตระหนักถึงความปลอดภัยของแรงงานไทยเป็นสำคัญ จากการเยือนรัฐอิสราเอลเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์ได้ขอความร่วมมือรัฐบาลอิสราเอลช่วยเน้นย้ำนายจ้างให้ดูแลความปลอดภัยแรงงานไทยให้ทำงานในพื้นที่สีเขียวเท่านั้น ไม่อนุญาตแรงงานไทยเปลี่ยนนายจ้าง/สถานที่ทำงาน ไปทำงานในพื้นที่สีเหลือง หรือสีแดง รวมถึงให้นายจ้างจัดทำที่หลบภัยที่แข็งแรงและปลอดภัยเพียงพอ” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว ทั้งยังระบุว่า ผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ สามารถติดตามข่าวสารการประกาศรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ทางการของกระทรวง คือ doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
ข้อมูลอ้างอิง