รื้อสัญญาปลดล็อก "ไฮสปีด-อู่ตะเภา"ตอกเข็มต้นปี68

26 มิ.ย. 2567 | 01:00 น.

     ปิดดีลแก้สัญญาไฮสปีด ‘สร้างไปจ่ายไป’ เดินหน้าตอกเข็มปี 68 ชง กพอ.-ครม.เคาะหลักการสัญญา ก.ค.นี้ เปิดยื่นขอบัตรส่งเสริมฯรอบใหม่ ด้าน UTA เจรจาเงื่อนไขสัญญาลดก่อสร้างช่วงแรกลงอีกรอบ-ยืดจ่ายผลตอบแทนยาวขึ้น หลังเจอขยาย “สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง”

 

 โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลมีหมุดหมาย เชื่อมการเดินทางถ่ายเทผู้โดยสารระหว่างกันแบบไร้รอยต่อ

เฟืองจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นแม่เหล็ก ดึงนักลงทุนต่างชาติเข้าพื้นที่ แต่เมื่อสองโครงการ “ตกหล่มลึก” จากสถานการณ์โควิดซํ้าเติมด้วยสงครามการสู่รบรัสเซีย-ยูเครน เอกชนผู้รับสัมปทานได้รับผลกระทบอย่างแผนทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงนำมาซึ่งการขอเจรจาภาครัฐในฐานะคู่สัญญา ผ่อนคลายข้อสัญญาเพื่อให้โครงการทั้งสองเดินหน้าต่อได้

 

ปิดดีลสร้างไปจ่ายไป-นายกขันน็อตเร่งสร้าง

โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีบริษัทเอเชียเอราวันจำกัดเครือซีพี เป็นคู่สัญญาและประเมินกันว่า หากล่าช้า หรือไม่สามารถก่อสร้างโครงการได้เชื่อว่า แผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาย่อมไร้ความหมาย

ขณะการเจรจาล่าสุดได้ข้อสรุปเกือบทั้งหมดแล้วรอเพียงขั้นตอน เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาร่างแก้ไขสัญญา มีกำหนดในเดือนกรกฎาคมนี้ ที่มีประเด็นไฮไลต์ รัฐเร่งจ่ายเงินร่วมลงทุนในโครงการ (PIC) 119,425 ล้านบาท ในงวดที่ 18 นับจากวันที่ออกหนังสือ NTP ปรับเงื่อนไขรับเงินอุดหนุน “รูปแบบสร้างไปจ่ายไป” จากเดิมรัฐลงเงินสนับสนุนต่อเมื่อ โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเดินรถแล้ว

ประเด็นนี้ มีการเจรจากันอยู่นานในที่สุด รัฐต้องยอมผ่อนคลาย ขณะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่อีอีซีขันน็อต เมื่อไม่นานมานี้เพื่อไม่ให้โครงการล่าช้า และมีคำสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จบในทุกขั้นตอนเจรจาภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อลงมือก่อสร้างต่อไป

แก้สัญญาไฮสปีด

กพอ.ไฟเขียว หลักการแก้สัญญา ไฮสปีด ก.ค.

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีการพิจารณาในประเด็นที่รฟท.และเอกชนได้เจรจาเพื่อแก้ปัญหาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทั้งนี้หากผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด กพอ.แล้ว จะเสนอครม.พิจารณาหลักการแก้ปัญหาสอดรับกับหลักการการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) นั้น ในเรื่องนี้เกี่ยวข้องในประเด็นการปรับวิธีการชำระเงินของเอกชน เนื่องจากเอกชนขอชำระเงินเร็วขึ้น

“ตามมติครม.เดิมเป็นการชำระเงินต่อเมื่อมีการก่อสร้างแล้วเสร็จค่อยเดินรถถึงจะเริ่มชำระเงิน ทำให้ต้องนำประเด็นนี้ไปทบทวนตามมติครม.ก่อน หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการแก้สัญญาต่อไป คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค.67 ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่กระทบกับเงื่อนไขของ PPP ในปัจจุบัน เพราะเป็นโครงการฯที่ยังดำเนินการตามขั้นตอน PPP ตามเดิม เพียงแต่การเจรจาครั้งนี้เป็นการปรับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับทางการเงินเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (คณะกรรมการกำกับสัญญาฯ) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อีอีซี ได้มีการประชุมและรับทราบผลการแก้ไขปัญหาตามที่คณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ได้ข้อสรุปแล้ว เบื้องต้นตามแผนจะเสนอบอร์ดกพอ.พิจารณาอีกครั้ง หลังจากนั้นเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติก่อนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาฯ ส่วนแก้ไขเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จ สามารถลงนามแก้ไขสัญญาได้ภายในเดือนธันวาคม2567 และรฟท.จะสามารถส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) เริ่มก่อสร้างไม่เกินต้นปี 2568

สำหรับแนวทางการเจรจายังคงเป็นกรอบเดิมที่เคยรายงานในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การจ่ายค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL) จำนวน 10,671 ล้านบาท แบ่งชำระ 7 งวด 2.ภาครัฐเร่งจ่ายเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ (PIC) วงเงิน 119,425 ล้านบาท เร็วขึ้น โดยจ่ายก่อนกำหนดในงวดที่ 18 นับจากวันที่ออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ถือเป็นการปรับเงื่อนไขรับเงินอุดหนุนจากรัฐในรูปแบบสร้างไปจ่ายไป

โดยการให้สถาบันการเงินมาการันตีในครั้งนี้ เนื่องจากภาครัฐต้องการความมั่นใจว่าเอกชนคู่สัญญาจะเดินหน้าต่อทั้งการเบิกจ่ายหรือการแบ่งงวดจ่ายใดๆ ทางรฟท.และสกพอ.ได้เจรจาให้เอกชนนำสถาบันการเงินมาวางการันตีเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้รัฐเสียประโยชน์จากการอุดหนุนจ่ายค่าก่อสร้างเร็วกว่ากำหนด

3.การออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) นั้นในการเจรจาร่วมกับเอกชนได้เสนอให้ตัดสิทธิ์เงื่อนไขสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกจากสัญญาฉบับนี้ด้วย เนื่องจากเลยกำหนดระยะเวลาการขยายขอออกบัตรส่งเสริมด้านการลงทุน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องบีโอไอจะไม่อยู่ในเงื่อนไขการออก NTP อีกต่อไป

บีโอไอ เปิดทางยื่นคำขอรับส่งเสริมรอบใหม่

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า หลังจากที่การขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมครั้งสุดท้ายได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือซีพีได้เข้ามาพบ เพื่อชี้แจงความคืบหน้าในการเจรจาแก้ไขสัญญาโครงการ รวมทั้งแนวทางดำเนินการในระยะต่อไป โดยบริษัทได้แจ้งยืนยันที่จะขอรับสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ

ส่วนสาเหตุที่เอกชนมีการยื่นคำขอรอบใหม่จนทำให้การขอขยายเวลาการออกบัตรส่งเสริมฯสิ้นสุดลงครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมาเนื่องจากเอกชนแจ้งว่าอยู่ระหว่างกระบวนการรอแก้ไขสัญญาโครงการฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้มีแหล่งเงินทุนเพื่อขอยื่นคำขอในการออกบัตรส่งเสริมฯ

โดยปัจจุบันเอกชนอยู่ระหว่างเตรียมเอกสารเพื่อยื่นคำขอรับสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอรอบใหม่ หากใช้เอกสารเดิมจะไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะระยะเวลาดำเนินการสิ้นสุดไปแล้ว ทั้งนี้เมื่อกระบวนการลงนามแก้ไขสัญญาผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กพอ. คาดว่าเอกชนจะมีความพร้อมในการยื่นคำขอใหม่ โดยกระบวนการจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้

แก้สัญญาไฮสปีดจบปีนี้-ตอกเสาเข็มต้นปีหน้า

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวว่า กรณีที่เอกชนจะกลับไปขอใช้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจาก บีโอไอนั้น เป็นสิทธิของเอกชนที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ แต่ทางอีอีซีไม่ได้กังวลในประเด็นนี้ เพียงแต่ต้องการให้โครงการเดินหน้าไปได้ก่อน

 เมื่อถามว่าเอกชนกลับไปขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอจะกระทบต่อการลงนามแก้ไขสัญญาในครั้งนี้หรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่กระทบ เนื่องจากในการแก้ไขสัญญานี้จะตัดเงื่อนไขในดังกล่าวโดยไม่มีการผูกในสัญญา หากมีการอนุมัติแก้ไขสัญญาแล้วเสร็จจะสามารถออก NTP เพื่อให้เอกชนเดินหน้าก่อสร้างได้เลย ตามกระบวนการคาดว่าจะลงนามแก้ไขสัญญาได้ภายในปีนี้

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานระหว่างรฟท.และเอกชนด้วยว่าจะสามารถดำเนินการได้แค่ไหน เพราะมีหลายขั้นตอนที่จะผ่านอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาฯก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการ หลังจากนั้นจะเริ่มออก NTP เพื่อดำเนินการก่อสร้างภายในต้นปี 2568 ซึ่งมั่นใจว่าจะก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้แล้วเสร็จสอดรับกับการเปิดสนามบินอู่ตะเภา

UTA เจรจาสัญญา ยืดจ่ายผลตอบแทนยาวขึ้น

 ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในพันธมิตรผู้คว้าประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก เปิดเผยว่า บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA จะต้องมีการเจรจาเงื่อนไขสัญญา กับทางอีอีซีใหม่อีกครั้ง จากเดิมที่ขอเจรจาขยายเฟสการลงทุน จาก 4 ระยะ เป็น 6 ระยะ

ซึ่งการก่อสร้างในช่วงแรกเดิมได้ขอลดการให้บริการโดยสารผู้โดยสารจาก 15.9 ล้านคน เป็น 12 ล้านคนต่อปี แต่ยังคงจำนวนตามแผนเดิมที่ 60 ล้านคนต่อปี แต่ล่าสุดเมื่อดูจากปัจจัยหลักหลายเรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการสนามบินอู่ตะเภา อาจจะไม่เหมือนที่คาดไว้ตั้งแต่แรกที่เสนอแผนพัฒนาไป

ดังนั้น UTA อาจจะต้องเจรจากับอีอีซี ขอลดการก่อสร้างในระยะแรก ลดลงไปอีก โดยยังอยู่ระหว่างการหารือเป็นการภายในว่าควรจะอยู่เท่าไหร่ ควรจะอยู่ที่ 8 ล้านคน หรือจะเคาะตัวเลขที่เท่าไหร่ แต่ปลายทางก็ยังจะรองรับผู้โดยสารได้เท่าเดิมตามแผนที่เสนอไป เนื่องจากโครงการนี้ได้รับผลกระทบหลักๆใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

1. การที่รัฐบาลประกาศจะพัฒนาและปรับปรุง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองเต็มเฟส ซึ่งไม่ได้มีเรื่องนี้ ตอนนี้เราคำนวณการลงทุนอู่ตะเภาในตอนนั้น

2.ความล่าช้าต่างๆที่ทำให้อีอีซี ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ UTA เข้าไปลงทุนได้ ซึ่งล่าช้ามากว่า 4 ปีแล้ว อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน

และ 3. สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น

 “จากผลกระทบที่เกิดขึ้นเราต้องไปขอเจรจาเงื่อนไขสัญญากับทางอีอีซี โดยจะขอปรับลดการลงทุนในช่วงต้นให้น้อยลง เพื่อให้สอดคล้องกับผู้โดยสาร แต่ตัวเลขสุดท้ายก็ลงทุนเท่าเดิม รวมถึงขอจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐในช่วงแรกจ่ายที่จะขอจ่ายน้อยหน่อย หรือมีรูปแบบการจ่ายยังไงได้บ้าง แต่ท้ายสุดตัวเลขสุดท้าย ก็ยังเท่าเดิม แต่อาจจะขอให้ยืดการจ่ายยาวขึ้น หรือลดยอดรวมลงบ้าง เพื่อช่วยชดเชยผลกระทบต่างๆเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องมีการเจรจากับอีอีซีเพื่อให้ได้ข้อสรุป ก่อน UTA จะได้รับหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) ที่คาดว่าจะได้เข้าพื้นที่ก่อสร้าง โดยขณะนี้เราต้องไปปรับคาดการณ์การเติบโตที่บริษัทที่ปรึกษาวางไว้ใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น”

 นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ UTA ได้ ออกแบบอาคารผู้โดยสาร ลานจอด การเชื่อมต่อแท็กซี่ เวย์ ไว้พร้อมแล้ว UTA หวังว่าจะได้เข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เนื่องจากคาดว่า การเจรจาเรื่องของไฮสปรีดเทรน 3 สนามบินจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ ขณะที่การก่อสร้างรันเวย์ 2 ของกองทัพเรือ (ทร.) ก็เตรียมเปิดประมูลแล้ว ซึ่ง UTA จะลงทุนสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และเมืองการบิน ที่จะประกอบไปด้วย ศูนย์แสดงสินค้า จัดแสดงคอนเสิร์ต โลจิสติกส์ สนามแข่งรถฟอร์มูล่าวัน (F1) โดยเรามองว่านักสะสมรถก็นำรถมาไว้ที่นี่ได้ แล้วมาขับในช่วงเสาร์-อาทิตย์ได้

อย่างไรที่ผ่านมา UTA มีค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาออกแบบ เราลงไปแล้วกว่า 3 พันล้านบาท รวมถึงได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 4,500  ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท เพื่อเป็นไปตามเงื่อนไขว่าเมื่อ NTP ต้องมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 9 พันล้านบาท