‘ฟู้ด เดลิเวอรี’เลือดสาด ตลาดขาลง ผู้ให้บริการแบกขาดทุนอ่วม

29 มิ.ย. 2567 | 01:39 น.

“ฟู้ด เดลิเวอรี” ตลาดปราบเซียน ฟาดฟันเลือดสาด ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ขาดทุนสะสม ล่าสุดถึงคิว Robinhood ที่ SCBX แบกขาดทุนกว่า 5 พันล้านไม่ไหว ประกาศยุติให้บริการ ด้าน “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ผู้ปลุกปั้น เปิดใจรู้สึกเสียดาย แต่ดีใจ Robinhood มาสุดทางแล้ว

KEY

POINTS

  • ตลาดฟู้ด เดลิเวอรี (Food Delivery) ปี 2567 ยังมีเทรนด์ที่ลดลงต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าปี 2567จะมีมูลค่าราว 8.6 หมื่นล้านบาท หดตัว 1.0% แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้งน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.8% หรือมีราคาเฉลี่ยประมาณ 185 บาทต่อครั้งของการสั่ง ซึ่งจะมีผลตามมาต่อทั้งจำนวนครั้งและปริมาณการสั่งให้ลดลง
  • 4 ปีที่เปิดให้บริการแอป Robinhood บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ จำกัด มียอดขาดทุนสะสมกว่า 5,565 ล้านบาท  SCBX แจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood มีผลตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป ภายหลังจากบรรลุภารกิจช่วยเหลือร้านค้า ไรเดอร์ และคนตัวเล็กในช่วงวิกฤตโควิด
  • “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ผู้ปลุกปั้น Robinhood เปิดใจรู้สึกเสียดายแบรนด์ Robinhood  แต่เข้าใจได้ SCBX  ยุติการให้บริการ ช่วยร้านค้า-คนขับ มาถึงสุดทางแล้ว ปิดบริการดีกว่าขึ้นค่า GP ทึ่ผิดจากเจตตารมณ์ก่อตั้ง

ตลาดฟู้ด เดลิเวอรี (Food Delivery) ปี 2567 ยังมีเทรนด์ที่ลดลงต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2567 ตลาด Food Delivery จะมีมูลค่าราว 8.6 หมื่นล้านบาท หดตัว 1.0% จากปี 2566 แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้งน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น (Price per Order) ประมาณ 2.8% จากค่าเฉลี่ยในปี 2566 หรือมีราคาเฉลี่ยประมาณ 185 บาทต่อครั้งของการสั่ง ซึ่งจะมีผลตามมาต่อทั้งจำนวนครั้งและปริมาณการสั่งให้ลดลง

ทั้งนี้จากการรวบรวมผลประกอบการของของผู้ให้บริการฟู้ด เดลิเวอรีรายใหญ่ในไทย 4 ราย ประกอบด้วย Grab, LINE MAN, Robinhood และ foodpanda พบว่า มีเพียง Grab รายเดียวที่สามารถทำกำไรได้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยข้อมูลจากครีเดน ดาต้า ระบุว่า Grab ที่จดทะเบียนภายใต้ชื่อ บริษัท แกร็บ แท็กซี่ ประเทศไทย จำกัด มีรายได้ในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ 10 ของการดำเนินธุรกิจในไทย อยู่ที่ 15,197 ล้านบาท และ มีกำไร 576 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2566 Grab มีรายได้ 15,622 ล้านบาท และมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 1,308 ล้านบาท

‘ฟู้ด เดลิเวอรี’เลือดสาด ตลาดขาลง ผู้ให้บริการแบกขาดทุนอ่วม

ส่วนไลน์แมนวงใน ที่จดทะเบียนภายใต้ชื่อ บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด นั้นในปี 2565 มีรายได้ 7,802 ล้านบาท และขาดทุน 2,730 ล้านบาท ส่วนในปี 2566 มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 11,634 ล้านบาท และเริ่มขาดทุนลดลงเหลือ 253 ล้านบาท ขณะที่ foodpanda ที่จดทะเบียนภายใต้ชื่อ บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ ประเทศไทย จำกัด นั้นในปี 2565 มีรายได้ 3,628 ล้านบาท ขาดทุน 3,255 ล้านบาท และปี 2566 มีรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 3,843 ล้านบาทและขาดทุนลดลงเหลือ 522 ล้านบาท

ปิดท้ายด้วย Robinhood ที่จดทะเบียนในนามของ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ในกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ในปี 2565 มีรายได้ 538 ล้านบาท ขาดทุน 1,986 ล้านบาทและในปี 2566 มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 724 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 2,155 ล้านบาท ซึ่งหากมองย้อนหลังกลับตลอด 4 ปีที่เปิดให้บริการแอป Robinhood บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ จำกัด มียอดขาดทุนสะสมกว่า 5,565 ล้านบาท

โดยล่าสุดบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) SCBX แจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป ภายหลังจากบรรลุภารกิจช่วยเหลือร้านค้า ไรเดอร์ และคนตัวเล็กในช่วงวิกฤตโควิดได้ตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้

โดยนายธนา เธียรอัจฉริยะประธานกรรมการบริหาร บริษัทเพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้ปลุกปั้น Robinhood เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รู้สึกเสียดายแบรนด์ Robinhood เพราะมีความผูกพัน แต่ก็เข้าใจได้ถึงการตัดสินใจของเอสซีบีเอกซ์ ที่ประกาศยุติการให้บริการ เพราะเกี่ยวข้องกับผลประกอบการ อย่างไรก็ตามเรื่องที่น่าดีใจ ที่ได้เห็นคำชื่นชมจากร้านค้า ที่ครั้งหนึ่งแอป Robinhood ช่วยให้เขารอดจากวิกฤติในช่วงโควิด มีเสียงขอบคุณจากร้านค้า หรือแม้แต่ผู้ใช้บริการ ก็แสดงความรู้สึกเสียดายการปิดตัวของแอป Robinhood

“เจตนารมณ์ของนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) SCBX ตั้งแต่แรกคือทำแอป Robinhood มาช่วยลูกค้า ซึ่งเป็นร้านค้า ร้านอาหารที่เปิดให้บริการช่วงโควิด โดยตอนนั้นมีงบการตลาดให้มากว่า 100 ล้านบาท ซึ่งมองว่าอาจจะทำไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่นายอาทิตย์บอกว่าช่วยคนอย่าไปเขียมมาถึงวันนี้แอป Robinhood มาสุดทางแล้ว ถ้าหากจะไปต่อต้องเก็บค่าธรรมเนียม (GP) จากร้านค้า ร้านอาหารเพิ่ม หรือหักรายได้จากค่าส่งจากคนขับเพิ่ม มองว่าไม่ใช่เจตนารมณ์ที่ตั้งไว้แต่แรก การปิดให้บริการเป็นทางออกที่สวยที่สุด”

แอป Robinhood ไม่ใช่บริการฟู้ด เดลิเวอรีรายแรกที่ปิดให้บริการไป โดยก่อนหน้านี้ “เก็ท” (GET) แพลตฟอร์มเรียกรถ-สั่งอาหารชื่อดัง ยุติการให้บริการเมื่อ 15 ก.ย. 2563 เพื่อย้ายเข้าสู่แอปพลิเคชัน Gojek หลังจากนั้น Gojek ก็ให้บริการจนถึงวันที่ 31 ก.ค. 2564 ก่อนปิดตัวลงภายหลังจากถูกเทคโอเวอร์อย่างเป็นทางการของทุนใหญ่ “แอร์เอเชีย ดิจิทัล” แพลตฟอร์มบริการด้านอีคอมเมิร์ซและการชำระเงินผ่านมือถือชั้นนำของอาเซียน

ขณะที่นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการโหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งภูมิภาครวมถึงประเทศไทย ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตได้ดี มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเรียกรถผ่านแอปและฟู้ด เดลิเวอรี คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 15% ภายในปี 2568 ทั้งนี้ในปี 2566 ถือเป็นอีกหนึ่งปีทองของ แกร็บ ประเทศไทย สามารถทำกำไรได้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน จากการเปิดตัวบริการใหม่ โดยธุรกิจหลักยังคงเป็นธุรกิจการเดินทาง เรียกรถและเดลิเวอรีฟู้ด ซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด

สำหรับปีนี้ แกร็บ ประเทศไทย มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ภายใต้กลยุทธ์ 4A ประกอบด้วย Active Users: แกร็บให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าหลักโดยมุ่งรักษาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้บริการโดยเฉพาะ 3 กลุ่มหลัก คือ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สมาชิกแพ็กเกจ GrabUnlimited และลูกค้าคุณภาพที่ใช้บริการเป็นประจำ (Quality User) ผ่านการผนึกความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตร โดยแกร็บจะพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่มากกว่าการให้ส่วนลดสำหรับสมาชิก GrabUnlimited รวมถึงการเปิดตัวแพ็กเกจสมาชิกแบบรายปีเพื่อรักษาฐานลูกค้าในระยะยาว ตลอดจนการพัฒนาสองแฟล็กชิพแบรนด์ของบริการ GrabFood อย่าง #GrabThumbsUp และ Only at Grab เพื่อรักษามาตรฐานและประสบการณ์ความอร่อยให้กับผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

ด้านผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และสื่อสารการตลาด วิเคราะห์ถึงการแข่งขันของธุรกิจ “ฟู้ด เดลิเวอรี” และการประกาศยุติการให้บริการของ Robinhood ว่า ต้องย้อนกลับไปดูเป้าหมายของโรบินฮู้ด ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันเดลิเวอรีสัญชาติไทย ที่ถือกำเนิดขึ้น โดยมุ่งหวังช่วยเหลือร้านอาหารขนาดเล็กและประชาชน จึงไม่คิดค่าธรรมเนียม (GP) กลายเป็น “ฮีโร่” ท่ามกลางวิกฤต

ปัจจัยเร่งที่นำ “โรบินฮู้ด” ไปสู่จุดจบ คือเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง โรบินฮู้ดต้องเผชิญกับปัจจัยเร่งหลายประการ รวมถึงการที่เป็นผู้เล่นที่มาทีหลัง การเข้าสู่ตลาดช้ากว่าคู่แข่งหลัก ส่งผลเสียเปรียบด้านฐานลูกค้าและการรับรู้แบรนด์ คู่แข่งที่หลากหลายและรุนแรง อีกทั้งตลาดเดลิเวอรีถือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง คู่แข่งแต่ละรายต่างนำเสนอโปรโมชั่นและบริการที่ดึงดูดลูกค้า พร้อมที่จะอัดโปรโมชั่นชิงกำลังซื้ออยู่ตลอดเวลา ต้นทุนที่สูง ทำให้โรบินฮู้ดเผชิญกับปัญหาด้านต้นทุน ในการทำตลาด รวมถึงการควบคุมมาตรฐานไรเดอร์ และพัฒนาระบบ และโรบินฮู้ดขาดกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการสร้างความแตกต่างและดึงดูดลูกค้าในระยะยาว

“การปิดตัวของโรบินฮู้ด สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในธุรกิจฟู้ด เดลิเวอรี การแข่งขันที่รุนแรง ต้นทุนที่สูง และกลยุทธ์ที่ชัดเจน ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณา”

อนาคตของธุรกิจฟู้ด เดลิเวอรี ที่แม้ตลาดจะเผชิญกับการแข่งขันที่สูง แต่ยังมีโอกาสเติบโต เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดได้จากฐานข้อมูลของลุกค้าที่มีอยู่ในมือ อินไซต์ต่างๆ เปรียบเสมือนทองคำที่ทำให้ผู้เล่นหลักในตลาดยังคงเดินหน้าทำธุรกิจต่อไปแม้ได้กำไรไม่มากนัก แต่ในอนาคตจะสามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ จะเป็นผู้ที่เข้าใจพฤติกรรมลูกค้า มอบบริการที่หลากหลาย และสร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจน