กรมทรัพย์สินฯ จับมือ Sacit หนุนศิลปหัตถกรรมไทย ดันสู่ตลาดโลก

08 ก.ค. 2567 | 07:20 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2567 | 07:43 น.

กรมทรัพย์สินทางปัญญา MOU สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ Sacit ผลักดันให้ครูช่างศิลปหัตถกรรม เข้าจดลิขสิทธิ์งาน สร้างมูลค่าเพิ่ม ป้องกันละเมิดเพื่อยกระดับผลงานสู่ตลาดโลก

นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดี กล่าวภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาและสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) (สศท.) หรือ Sacit ในการขับเคลื่อนศิลปหัตถกรรมของไทย ให้เติบโตและทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต ให้สินค้าได้มีลิขสิทธิ์ สร้างมาตรฐานให้กับสินค้าว่า 

กรมฯ พร้อมให้ความรู้และคำปรึกษาด้านการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา ภายในประเทศ และระหว่างประเทศ แก่ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม

 

กรมทรัพย์สินฯ จับมือ Sacit หนุนศิลปหัตถกรรมไทย ดันสู่ตลาดโลก

นอกจากนี้กรมพร้อมสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างรายได้มูลค่าเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันก็มีสินค้า หัตถกรรมเข้ามาจดสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมาก 

นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เปิดเผยว่า สศท.ได้ดำเนินการสนับสนุนโอกาสในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ประเภทสินค้ากลุ่มหัตถกรรม ทั้ง 9 ประเภท ได้แก่ 

  • เครื่องไม้ 
  • เครื่องจักรสาน 
  • เครื่องดิน 
  • เครื่องทอ(เครื่องผ้า) 
  • เครื่องรัก 
  • เครื่องโลหะ   
  • เครื่องหนัง 
  • เครื่องกระดาษ 
  • เครื่องหิน 
  • อื่นๆ กลุ่มสินค้างานหัตถกรรมเหล่านี้ ได้อยู่ในพื้นที่ GI (แหล่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) 

ผู้ผลิตผลงานในพื้นที่ GI ได้นำวัสดุ/วัตถุดิบ ที่มีควาวเกี่ยวข้องกับกับการผลิตผลงานเข้ามาเป็นส่วนที่สร้างสรรค์ ต่อยอด ให้สินค้ามีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์สูง อาทิ ทุนทางประวัติศาสตร์ ทุนทางสังคมและวัฒนธรรม ทุนสิ่งแวดล้อม ซึ่ง สศท. เร่งผลักดันให้ผู้ผลิตงานศิลปหัตกรรมนำมาเป็นฐานคิดที่สามารถสร้างความแข็งแกร่ง จะสามารถเพิ่มคุณค่า และมูลค่าแก่สินค้าหัตถกรรมได้อย่างมีศักยภาพ

 

กรมทรัพย์สินฯ จับมือ Sacit หนุนศิลปหัตถกรรมไทย ดันสู่ตลาดโลก  

โดยปีนี้ สศท. มีผลิตภัณฑ์จากโครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ (SACIT Concept : Geographical Indications of Arts and Crafts) ภายในโครงการมีกิจกรรม Crafts Design Matching เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรม และ นักออกแบบ โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการจากพื้นที่ GI เข้าร่วมโครงการฯ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนายังสามารถขยายการเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวระดับชุมชน และพัฒนาเป็นสินค้าหัตถกรรมสู่การท่องเที่ยวในระดับโลกได้ 

ทั้งนี้ สศท. จะมีการจัดงาน “แสดงนิทรรศการแสดงต้นแบบผลิตภัณฑ์" ในงานแสดงสินค้า Crafts Bangkok 2024 ระหว่างวันที่ 24 - 28 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา 

สำหรับมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่าการส่งออกรวม 145,492.74 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเดือน พ.ค.ส่งออก 31,859.15 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

กรมทรัพย์สินฯ จับมือ Sacit หนุนศิลปหัตถกรรมไทย ดันสู่ตลาดโลก

กรมทรัพย์สินฯ จับมือ Sacit หนุนศิลปหัตถกรรมไทย ดันสู่ตลาดโลก