"สุริยะ" เจอตอ เสนอครม. ลุยไฟ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม"แต่โดนเบรก

10 ก.ค. 2567 | 00:08 น.
อัพเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2567 | 06:55 น.

"สุริยะ" จอตอ เสนอครม. ลุยไฟ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แต่สำนักงานเลขาธิการ ครม. ยังไม่บรรจุวาระ ให้รอความเห็นอัยการสูงสุดก่อน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567กระทรวงคมนาคม โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีความพยายามผลักดันผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่าโครงการ 1.4 แสนล้านบาท ที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ชนะการประมูล ให้ที่ประชุมครม.พิจารณาเห็นชอบ

สืบเนื่องจากศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ฟ้องคดีคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โครงการ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" 

อย่างไรก็ตามสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของครม.แต่อย่างใด 

แหล่งข่าวจากที่ประชุมครม. เปิดเผยว่า สาเหตุที่สลค.ไม่นำวาระผลการคัดเลือกเอกชนร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" เข้าสู่การพิจารณาของครม.เนื่องจากยังต้องรอความเห็นจากอัยการสูงสุด (อสส.) ก่อน 

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะยกฟ้อง แต่บีทีเอสซีได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้ดำเนินคดีอาญากรณีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการ "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 มีการกำหนดเงื่อนไขอันมีลักษณะอาจเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ซึ่งดีเอสไอได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาไปก่อนหน้านี้ 

รายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ดีเอสไอยังตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ตรวจสอบคุณสมบัติบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทได้ถูกพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก จึงเป็นขั้นตอนกระบวนการคัดเลือกที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการแข่งขันราคาตามที่กำหนดไว้ 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคมให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า “การฟ้องร้องต่อดีเอสไอและคณะกรรมการป.ป.ช.จะไม่กระทบต่อการลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งนี้”

นายสุริยะยังกล่าวว่า ส่วนคดีที่บีทีเอสซีฟ้อง "ผู้ว่ารฟม." และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ไม่เกี่ยวกับการลงนามร่างสัญญาฯนี้