“ซีพี” นำทัพบริษัทในเครือ ชูสิทธิสตรียั่งยืนเคลื่อนองค์กร สร้างเท่าเทียม

10 ก.ค. 2567 | 10:31 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2567 | 10:46 น.

ซีพีนำทีมบริษัทในเครือฯ ชูนโยบายยั่งยืนด้านสิทธิสตรี ขับเคลื่อนองค์กร สร้างสังคมเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ เสริมสร้างบรรยากาศการทำงานเคารพซึ่งกันและกัน

รายงานข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) เผยว่า ได้นำทีมผู้บริหารหญิงระดับสูงจากบริษัทในเครือฯ ได้แก่ แอสเซนด์ มันนี่, ซีพี ฟิวเจอร์ ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ และ ซีพี แอ็กซ์ตร้า แสดงความมุ่งมั่นของซีพีที่มีต่อนโยบายสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมสิทธิสตรี โดยมีรางวัลการันตีทั้งระดับโลกและระดับประเทศ

นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เผยว่า จากที่ซีพีมีพนักงานทั่วโลกกว่า 5 แสนคน มีความหลากหลายทั้งอายุ เชื้อชาติ ศาสนา รวมไปถึงเพศสภาพ ดังนั้นเครือฯ จึงให้ความสำคัญและส่งเสริมการยอมรับในความแตกต่างและความหลากหลาย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางเพศตามหลักสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือซีพี ปี 2573 ที่เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ได้วางแนวปฏิบัติตามหลักการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ  มีนโยบายเสริมสร้างบรรยากาศในการทำงานและการเคารพซึ่งกันและกันโดยไม่เลือกปฏิบัติให้กับพนักงานทุกเพศและทุกระดับ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและบทบาทของผู้หญิงในองค์กรอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร

“ปัจจุบันมีสัดส่วนของพนักงานหญิง 51% มากกว่าพนักงานชายที่มีอยู่ 49% มีการพิจารณาค่าตอบแทนและการเลื่อนตำแหน่งงานตามความสามารถพนักงานอย่างเท่าเทียม เพราะเครือซีพีและบริษัทในเครือฯ ตระหนักดีว่าทุกคนในองค์กรล้วนมีศักยภาพพร้อมเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างมูลค่าและคุณค่าในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน”

ขณะเดียวกันซีพีเป็นองค์กรที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้พัฒนาศักยภาพ สร้างสรรค์พลังบวก เพื่อส่งต่อคุณค่าที่ดีแก่สังคมและองค์กรได้อย่างยั่งยืน โดยตระหนักถึงการสร้างความสมดุลของบุคลากรเพศหญิงและเพศชายในระดับผู้บริหาร เช่น โครงการพัฒนาผู้นำแห่งอนาคต ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นเพศหญิงถึงร้อยละ 52 แสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมสิทธิสตรี เนื่องจากเชื่อว่าการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญของบุคคลจะทำให้บุคลากรมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน นอกจากนี้ยังมีการให้สวัสดิการเฉพาะพนักงานหญิง อาทิ ทรู ให้สิทธิลาคลอดได้สูงสุด 180 วัน แม็คโครและซีพีเอฟจัดให้มีสถานที่สำหรับการให้นมบุตรของพนักงาน เป็นต้น

นางสาวมนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด เจ้าของแอปพลิเคชัน TrueMoney หนึ่งในผู้หญิงที่เป็นผู้นำของเครือซีพี เปิดเผยว่า แอสเซนด์ มันนี่ เป็นบริษัทฟินเทค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านการเงิน หลายคนอาจจะคิดว่าเทคโนโลยีเป็นงานของผู้ชาย แต่ที่แอสเซนด์ มันนี่ ผู้บริหารระดับ C-1 จำนวน 24 คน เป็นผู้หญิงถึง 14 คน จึงเห็นได้ชัดเจนว่าที่นี่เป็นองค์กรที่ยึดความสามารถเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงเพศสภาพ

ทั้งนี้ในโลกยุคปัจจุบันผู้หญิงต้องเผชิญกับความท้าทายตลอดทุกช่วงวัย เนื่องจากมีความรับผิดชอบทั้งในฐานะเพศหญิงที่ต้องดูแลครอบครัว และยังรวมถึงความรับผิดชอบจากหน้าที่การงาน ดังนั้นการเป็นผู้หญิงที่จะมีความสุขได้ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตใจ

ขณะที่ นางสาวปพิตชญา สุวรรณดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ฟิวเจอร์ ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น หรือ CPFC ผู้บริหารหญิงบริษัทอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรในเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และผู้บริหารหญิงหลายท่านของเครือฯ ก็สามารถแสดงให้เห็นถึงการมีวิสัยทัศน์ที่ชัดแจ้ง มีความเป็นผู้นำในระดับสูง สามารถนำพาธุรกิจไปสู่เป้าหมายของเครือฯ ได้เป็นอย่างดี

การเป็นผู้นำหญิงในองค์กรขนาดใหญ่อย่างเครือซีพีนั้นมีความท้าทายในหลายหลายรูปแบบ ในฐานะผู้บริหาร CPFC มีแนวทางปฏิบัติเพื่อนำองค์กรสู่ความเป็นบริษัทอสังหาฯ ระดับโลก ด้วย 1.การเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงาน รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่พนักงานในทุกภาคส่วน 2. การส่งเสริมให้องค์กรมีความหลากหลาย และสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของพนักงานเน้น culture ที่ให้ความเสมอภาคเท่าเทียมเพื่อส่งเสริม innovation ในทุกด้าน ทั้งยังมีการอัพเดทพนักงานเกี่ยวกับความคืบหน้าของบริษัทอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการร่วมเดินทางไปด้วยกันสู่เป้าหมายขององค์กรอย่างยั่งยืน และ 3. การสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความสามารถ และมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานอย่างเท่าเทียม มีการให้ฟีดแบคเพื่อปรับปรุง และสร้างสภาพแวดล้อมที่ให้พนักงานทุกคนมีเครื่องมือ และมีทักษะพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจได้ตลอดเวลา

ขณะที่ในส่วนของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของเครือซีพี  นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจนี้มีพนักงานในความดูแลถึง 8 หมื่นคน จากแม็คโครและโลตัส ที่ผ่านมาแม็คโครได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัล UN Women 2022 Thailand WEPs Awards สาขาสถานที่ทำงานที่มีความเท่าเทียมทางเพศ ที่จัดขึ้นโดย UN Women หรือ องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ นับเป็นอีกความภาคภูมิใจขององค์กรและยังเป็นการตอกย้ำถึงการประกาศเจตนารมณ์ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการเสริมศักยภาพผู้หญิงในภาคธุรกิจ ให้มีโอกาสนำศักยภาพมาใช้ในการทำงานได้อย่างเท่าเทียมกัน

“ซีพี แอ็กซ์ตร้าให้ความสำคัญกับ คน หรือ พนักงาน ด้วยการยึดหลักปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนด้วยความเท่าเทียมตามแนวนโยบายของเครือฯ พร้อมให้การสนับสนุนความเรื่องความหลากหลาย โดยมองความแตกต่างเป็นเรื่องดี ช่วยเสริมองค์กรให้มีความเข็มแข็ง เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือ LGBTQ+ ก็สามารถนำความแตกต่างมาช่วยกันทำงานให้ดีขึ้น ใช้ศักยภาพที่มีดูแลลูกค้าที่มีความหลากหลายด้วยความเข้าใจ และทุกคนสามารถเติบโตในหน้าที่การงานได้อย่างเท่าเทียมกัน”