ผ่านฉลุย บอร์ด รฟท.เคาะส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง Missing link 4.4 หมื่นล้าน

11 ก.ค. 2567 | 10:04 น.
อัพเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2567 | 16:11 น.

บอร์ด รฟท. ไฟเขียว “ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง” Missing link 4.4 หมื่นล้านบาท ดันวงเงินเพิ่ม 416 ล้านบาท หลังปรับตำแหน่งสถานีเชื่อมรพ.รามาฯ เตรียมชงคมนาคม-ครม.ไฟเขียวต่อไป

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด)การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการปรับกรอบวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ –พญาไท - มักกะสัน - หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง (Missing Link)

 

 เนื่องจากมีการปรับย้ายตำแหน่งสถานีราชวิถี เปลี่ยนมาอยู่ฝั่งโรงพยาบาลรามาธิบดี และมีทางเดินลอยฟ้า(สกายวอล์ก) จากสถานีเชื่อมเช้าสู่อาคารของโรงพยาบาล

 

 ส่งผลให้กรอบวงเงินโครงการเพิ่มขึ้น 416.09 ล้านบาท จากวงเงินเดิมที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อปี 59 ประมาณ 44,157.76 ล้านบาท รวมเป็น 44,573.85 ล้านบาท

ทั้งนี้การประชุมบอร์ด รฟท. เมื่อครั้งที่ผ่านมาในเดือน พ.ค.67 ที่ประชุมมอบให้ รฟท. กลับไปทบทวนรายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้ง และเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ให้เรียบร้อย

 

เพราะกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อกัน เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 โครงการอยู่ใกล้กัน กลัวว่าจะมีปัญหาตามมาภายหลัง

 

 "การประชุมครั้งนี้ รฟท. ยืนยันว่าได้เจรจากับผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟไฮสปีดฯ เรียบร้อยแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ รฟท. จะเสนอโครงการดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป"

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ถือเป็นเส้นสุดท้ายของส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งก่อนหน้านี้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด รฟท.แล้ว 3 เส้นทาง

ได้แก่ 1.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 6,473.98 ล้านบาท โดยกระทรวงคมนาคมได้ส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) แล้ว คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในเร็วๆ นี้

 

2.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท และ 3.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท ซึ่ง 2 เส้นทางนี้ รฟท. ได้เสนอไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว แต่ได้ส่งเรื่องกลับมาให้ รฟท. เพิ่มเติมข้อมูล

 

นอกจากนี้รฟท.อยู่ระหว่างเร่งจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้การพิจารณานำเสนอเส้นทางดังกล่าวเป็นไปด้วยความรอบคอบ และเพื่อให้กระทรวงคมนาคมมีข้อมูลที่ครบถ้วนในขั้นตอนการชี้แจงต่อ ครม. ต่อไป โดย รฟท. คาดว่าจะต้องเสนอกลับเข้าที่ประชุมบอร์ด รฟท. พิจารณาอีกครั้งในเร็วๆ นี้.