ปีนี้ชงครม.ไฟเขียว “ส่วนต่อขยายสายสีแดง” 3 เส้นทาง

03 ก.ค. 2567 | 23:00 น.

“สุรพงษ์” กางแผนคืบหน้า “รถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง” 3 เส้นทาง วงเงินรวม 21,790 ล้านบาท เล็งชงครม.เคาะภายในปีนี้ ฟากรฟท. เตรียมดันแผนจัดหาหัวรถจักร หนุนใช้ระบบไฮบริด

นายสุรพงษ์  ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยายจำนวน 3 เส้นทาง วงเงินรวม 21,790.25 ล้านบาท

 

เบื้องต้นรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร (กม.) มี 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีคลองหนึ่ง สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถานีเชียงราก และสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วงเงินโครงการ 6,473.98 ล้านบาทนั้น

 

ปัจจุบันได้ลงนามเสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอบรรจุวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

 

หากได้รับความเห็นชอบจะสามารถดำเนินการเปิดประกวดราคาได้ภายในปี 67 เริ่มการก่อสร้างภายในปลายปี 67 หรือต้นปี 68 คาดว่าจะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการประชาชนได้ในช่วงต้นปี 71 

 

ขณะที่อีก 2 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา มี 6 สถานี ประกอบด้วย สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-กฟผ. สถานีบ้านฉิมพลี สถานีกาญจนาภิเษก สถานีศาลาธรรมสพน์ และสถานีศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงินโครงการ 10,670.27 ล้านบาท 
 

นายสุรพงษ์  กล่าวต่อว่า และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. มี 3 สถานี ประกอบด้วย สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน สถานีจรัญสนิทวงศ์ และสถานีธนบุรี-ศิริราช วงเงินโครงการ 4,616 ล้านบาทนั้น 

 

“ยอมรับว่ายังมีความล่าช้ากว่าแผน ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ภายในปี 2567 ขณะที่แหล่งเงินทุนของโครงการฯ นั้น จะใช้แหล่งเงินกู้ภายในประเทศมาดำเนินการ”

 

ส่วนความคืบหน้าการจัดหาหัวรถจักรและขบวนรถโดยสารของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างการเลือกเทคโนโลยีว่าจะเป็นรูปแบบใด โดยเบื้องต้นมีแนวคิดจะจัดหาหัวรถจักรระบบไฮบริด 
 

ในปัจจุบันมีการใช้แพร่หลายในต่างประเทศ อาทิ ประเทศเยอรมัน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถเชื่อมต่อเข้ามายังกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มุ่งเน้นการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นที่ได้หันมาใช้ระบบไฟฟ้า (EV) มากขึ้น เช่น รถเมล์ รถแท็กซี่ รถทัวร์ เป็นต้น

 

สำหรับแนวทางการเดินรถไฟของ รฟท. ในอนาคตนั้น จะกำหนดว่า จะต้องเดินรถด้วยระบบไฟฟ้าในรัศมี 200 กิโลเมตร (กม.) รอบกรุงเทพฯ

 

ส่วนในระยะห่างออกไปจากที่กำหนด ค่อยปรับเปลี่ยนไปใช้ระบบน้ำมันดีเซลแทน เพื่อลดภาวะโลกร้อน และแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเขตเมืองฯ ที่มีค่ามลพิษฝุ่นละอองสูง ทั้งนี้ตามแผนคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2567 และจะเริ่มดำเนินการในปี 2571-2572 ต่อไป 

 

อย่างไรก็ตามการจัดซื้อจัดซื้อรถโบกี้บรรทุกสินค้า (บทต.) หรือแคร่ขนส่งสินค้า 946 คัน วงเงิน 2,459 ล้านบาท ที่คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ได้มีมติอนุมัติไปแล้วเมื่อ พ.ค. 2566 ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์