รฟท.เปิดแผนสร้าง “ทางรถไฟเชื่อม 5 นิคมอุตสาหกรรม” รุกพื้นที่อีอีซี

12 ก.ค. 2567 | 03:00 น.

“คมนาคม” กางแผน รฟท.เดินหน้าศึกษาทางรถไฟเชื่อม 5 นิคมอุตสาหกรรม วงเงิน 3.2 พันล้านบาท หวังเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าทางรางในพื้นที่อีอีซี ผุดแผนปี 71-85 สร้างทางรถไฟเพิ่ม 6 แห่ง อุ้มผู้ประกอบการลดต้นทุนโลจิสติกส์

ปัจจุบัน “รฟท.” เร่งพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อเข้าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้จะส่งผลให้ผู้ประกอบการเอกชนสนใจมาใช้การขนส่งระบบรางที่สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เดินหน้าโครงการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-Map)

 

ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมโยงในการเข้าถึงพื้นที่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางราง รวมทั้งลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และลดระยะเวลาในการขนส่งที่จะช่วยเพิ่มฐานลูกค้า ทำให้มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางมากขึ้น

 

ทั้งนี้รฟท.ได้จัดทำแผนงานการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรมที่มีความต้องการและมีความพร้อมในการดำเนินการในระยะเร่งด่วน (ปี 2566-2570) จำนวน 5 โครงการ ระยะทางรวม 14.4 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวม 3,261 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570 ประกอบด้วย

 

1.เขตอุตสาหกรรมเหล็กของกลุ่มสหวิริยาสตีลอินดัสตรี ช่วงสถานีนาผักขวง และ SSI’s Distribution Hub กับ SSI’s Logistics Terminal. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 2.4 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 400 ล้านบาท โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการศึกษารถไฟทางเดี่ยวและดำเนินการต่อไป

 

2.นิคมอุตสาหกรรมสีเขียวสำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร กฟผ.แม่เมาะ ระยะที่ 1 : ช่วงสถานีแม่เมาะ-CY กฟผ.แม่เมาะ ระยะทาง 2 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 80 ล้านบาท

 

ปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อสำรวจ ออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) วงเงิน 17 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ 2568 จำนวน 3.4 ล้านบาท และผูกพันปีงบประมาณ 2569 จำนวน 13.6 ล้านบาท โดยเป็นการศึกษาสร้างรถไฟทางเดี่ยว

3.นิคมอุตสาหกรรม WHA ตะวันออก จังหวัดระยอง ระยะทาง 3 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 690 ล้านบาท ปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อสำรวจออกแบบรายละเอียด

 

และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) วงเงิน 13 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ 2568 จำนวน 2.6 ล้านบาท และผูกพันปีงบประมาณ 2569 จำนวน 10 ล้านบาท โดยเป็นการศึกษาสร้างรถไฟทางคู่

 

 4.นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 5 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1,071 ล้านบาท เบื้องต้น รฟท. อยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อสำรวจ

 

ออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) วงเงิน 21 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ 2568 จำนวน 4.2 ล้านบาท และผูกพันปีงบประมาณ 2569 จำนวน 16.8 ล้านบาท โดยเป็นการศึกษาสร้างรถไฟทางคู่ 

 

5.นิคมอุตสาหกรรมเวิร์ล จังหวัดลำพูน ระยะทาง 2 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1,020 ล้านบาท ขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี

 

เพื่อสำรวจออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม วงเงิน  20 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ 2568 จำนวน 4 ล้านบาท และผูกพันปีงบประมาณ 2569 จำนวน 16 ล้านบาทโดยเป็นการศึกษาสร้างรถไฟทางคู่

 

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ทั้งนี้ตามแผนหากได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการศึกษาแล้ว หลังจากนั้นจะดำเนินการออกแบบรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯ (Detail Design) ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี คาดแล้วเสร็จภายในปี 2568

 

หลังจากนั้นจะขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2568 โดยโครงการนี้รฟท.จะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด เบื้องต้นการก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟจะเชื่อมต่อเขตนิคมอุตสาหกรรมได้โดยตรง
 

“ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ได้เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในไทย อีกทั้งไทยยังมีความสามารถในการผลิตรถยนต์สูงขึ้น โดยโครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนา หากรฟท. สามารถผลักดันได้จะเป็นโมเดลแรก ที่จะช่วยพัฒนาระบบรางบนโครงสร้างพื้นฐานของรฟท.ที่ดำเนินการไว้อย่างต่อเนื่อง”   

 

ขณะเดียวกันในปี 2571-2575 รฟท.ยังมีแผนเดินหน้าโครงการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม อีกจำนวน 3 แห่ง ระยะทางรวม 19.60 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวม 7,132 ล้านบาท ประกอบด้วย

รฟท.เปิดแผนสร้าง “ทางรถไฟเชื่อม 5 นิคมอุตสาหกรรม” รุกพื้นที่อีอีซี

1.นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย ระยะทาง 5.1 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1,749 ล้านบาท 2.นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ระยะทาง 6 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3,791 ล้านบาท

 

3.เขตอุตสาหกรรมเหล็กของกลุ่มสหวิริยาสตีลอินดัสตรี ระยะที่ 2 ช่วงสถานีนาผักขวง และ อุตสาหกรรมเหล็กสหวิริยาฯ ท่าเรือประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 8.5 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1,592 ล้านบาท 

 

นอกจากนี้ในปี 2576-2585 ยังมีโครงการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม อีกจำนวน 3 แห่ง ระยะทางรวม 100.4 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย 1.นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย สุวรรณภูมิ ระยะทาง 6 กิโลเมตร (กม.)

 

2.นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา ระยะทาง 11.4 กิโลเมตร (กม.) และ 3.นิคมอุตสาหกรรมสีเขียวสำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร กฟผ.แม่เมาะ ระยะที่ 2 : ช่วง CY กฟผ.แม่เมาะ-สถานีงาว จังหวัดลำปาง ระยะทาง 78 กิโลเมตร (กม.)