ญี่ปุ่นเตือนภัยระดับกลางภูเขาไฟชินโมเอดาเกะ พบสัญญาณปะทุ

30 มี.ค. 2568 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2568 | 09:04 น.

ญี่ปุ่นเตือนภัยภูเขาไฟชินโมเอะดาเกะระดับ 3 ห้ามใกล้ภูเขา หลังพบแรงสั่นสะเทือนกว่า 200 ครั้งใน 24 ชั่วโมง ประชาชนในรัศมี 4 กม.ระวังหินภูเขาไฟและเถ้าถ่านหากเกิดการปะทุ

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (Japan Meteorological Agency) ประกาศยกระดับการเตือนภัยภูเขาไฟ ชินโมเอะดาเกะ (Mt. Shinmoedake) ซึ่งตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาคิริชิมะ (Kirishima mountain range) คร่อมจังหวัดมิยาซากิและคาโกชิมะ เป็นระดับ 3  พร้อมทั้งห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวหรือประชาชนเข้าใกล้บริเวณภูเขา

ก่อนหน้านี้ ระดับการเตือนภัยอยู่ที่ระดับ 2 ซึ่งจำกัดการเข้าพื้นที่เฉพาะบริเวณปากปล่องภูเขาไฟเท่านั้น โดยนี่ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2018 ที่มีการยกระดับเตือนภัยขึ้นเป็นระดับ 3

ทางการญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร จากปากปล่องภูเขาไฟ เพิ่มความระมัดระวัง เนื่องจากอาจมีเศษหินขนาดใหญ่ที่ถูกพ่นออกมาจากภูเขาไฟ

ตามรายงานของสำนักงานอุตุนิยมวิทยา ภูเขาไฟชินโมเอะดาเกะ มีจำนวนแรงสั่นสะเทือนจากภูเขาไฟ (volcanic tremors) ที่เพิ่มขึ้นและลดลงสลับกันมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2024 โดยจุดศูนย์กลางของแรงสั่นอยู่ใต้ปากปล่องภูเขาไฟโดยตรง

ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา ปริมาณแรงสั่นได้กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง จนถึงเวลา 4.00 น. ของวันอาทิตย์ มีแรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้นรวม 246 ครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีการยืนยันพบ การเคลื่อนไหวของเปลือกโลก (crustal movements) ที่บ่งชี้ว่า รูปทรงของภูเขาเริ่มมีลักษณะบวมพองขึ้น ตั้งแต่เวลา 02:50 น. ของวันเดียวกัน

 

 

โทโมยูกิ คันโนะ (Tomoyuki Kanno) ผู้อำนวยการกองสังเกตการณ์ภูเขาไฟ สังกัดสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น กล่าวในการแถลงข่าวช่วงเช้าวันอาทิตย์ ว่า หากเกิดการปะทุขึ้นจริง มีความเป็นไปได้ที่จะมีเถ้าภูเขาไฟและเศษหินขนาดเล็กกระจายออกไปไกลเกินกว่ารัศมี 4 กิโลเมตรจากปากปล่องได้ ประชาชนจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวัง

ที่มา