เช็คสถานการณ์ทิศทางดอกเบี้ยโลก "เฟด" ส่งสัญญาณชัดขึ้นลดก.ย.-ธ.ค.

15 ก.ค. 2567 | 01:54 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2567 | 01:54 น.

เช็คสถานการณ์ทิศทางดอกเบี้ยโลก "เฟด" ส่งสัญญาณชัดขึ้นลดก.ย.-ธ.ค. หลังดัชนีเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 3% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ด้าน ECB และหลายประเทศจะทยอยปรับลดต่อเนื่อง  

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทิศทางดอกเบี้ยโลกน่าจะเข้าสู่ภาวะขาลงปลายปี โดยมีความเป็นไปได้เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (FED) จะปรับลดดอกเบี้ยเดือนกันยายนและธันวาคมปีนี้หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 3% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว 

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปปรับลดลง -0.1% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหรือดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 3.3% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนเมื่อปีที่แล้ว 

และคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 3-4 ครั้งในปีหน้า ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate อยู่ที่ระดับ 3.75-4% ได้ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2568 ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯขาลงจะกดดันให้ดอลลาร์สหรัฐฯทยอยอ่อนค่าลงตามลำดับ โดยที่ค่าเงินสกุลเงินเอเชียยกเว้นเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์  

นอกจากนี้ มองว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) และหลายประเทศจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อไปแม้เยนจะอ่อนค่าก็ตาม  

"ดอกเบี้ยโลกขาลงจะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงมีความน่าสนใจมากขึ้น การเคลื่อนย้ายเงินทุนมายังภูมิภาคเอเชียมากขึ้นจะทำให้เงินบาทและเงินสกุลภูมิภาคแข็งค่าขึ้น เงินดอลลาร์ที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 36 ปีเมื่อเทียบกับเงินเยนน่าจะเริ่มชะลอตัวลง ก่อนหน้านี้ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาแข็งค่าไปแตะระดับ 1 ดอลลาร์ต่อ 1 ยูโรเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากระดับดังกล่าวมากนัก"  

นายอนุสรร์ กล่าวอีกว่า ทิศทางการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐอเมริกาในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา การเติบโตของผลกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์โดยเฉพาะบริษัทไฮเทคโนโลยีทั้งหลาย นอกจากนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมีนาคมเมื่อปี พ.ศ. 2565 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสูงที่สุดในรอบ 23 ปีที่ระดับ 5.25-5.50% 
 

การทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากระดับสูงสุดลงมาสู่ระดับปรกติย่อมส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง บาทอาจแข็งค่าสู่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ได้ในช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า หากการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องพร้อมดุลการค้าเกินดุลเพิ่ม และหากเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทะลุ 8 พันล้านดอลลาร์หรือมากกว่า 1.5% ของจีดีพี อาจเห็นบาทแข็งค่าทะลุ 32 บาทได้ในปีหน้า 

และมีโอกาสเช่นเดียวกันที่เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 29-30 บาทต่อดอลลาร์เช่นเดียวกับปลายปี พ.ศ. 2562 หากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการลงทุนในตลาดการเงินและหลักทรัพย์ของต่างชาติ เพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโควิด และมีการชะลอตัวของเงินทุนไหลออกไปลงทุนนอกประเทศของกลุ่มทุนข้ามชาติสัญชาติไทยและหันกลับมาขยายการลงทุนในประเทศมากขึ้น