"ส.อ.ท." ห่วงค่าไฟขึ้นดันต้นทุนพุ่ง 10% เสียเปรียบคู่แข่ง-ทุบส่งออก

15 ก.ค. 2567 | 02:37 น.
อัพเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2567 | 02:37 น.

"ส.อ.ท." ห่วงค่าไฟขึ้นดันต้นทุนพุ่ง 10% เสียเปรียบคู่แข่ง-ทุบส่งออก ชี้อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบเป็นอุตสาหกรรมหนักในภาคการผลิตที่ใช้ไฟฟ้าเข้มข้น และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้ารวมถึงราคาน้ำมัน ถือเป็นต้นทุนที่ส่งผลกระทบทางธุรกิจ โดยประเมินเฉพาะค่าไฟที่รัฐบาลประกาศจะปรับขึ้นแน่นอน 

หากปรับขึ้นประมาณ 0.40-0.50 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ราคาขึ้นไปถึง 4.60-4.70 บาทต่อหน่วย ทำให้เฉพาะค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้น ถือเป็นการเพิ่มต้นทุนของธุรกิจกว่า 10% 

โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบเป็นอุตสาหกรรมหนักในภาคการผลิตที่ใช้ไฟฟ้าเข้มข้น และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน ถูกกระทบแบบลดหลั่นกันมา เพราะพลังงานถือเป็นต้นทุนใหญ่ 
 

สวนทางประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะเวียดนาม ที่ใช้ค่าไฟราคา 2.70 บาท หรืออินโดนีเซีย ค่าไฟ 3.30 บาท

"หากจะขึ้นราคาไปสูงถึง 4.70 บาท จากเดิมตอนนี้ที่อยู่ 4.18 บาท ก็แย่อยู่แล้วในด้านการแข่งขันระหว่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนกังวล เนื่องจากขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยจะลดลงมากกว่าเดิม กระทบการส่งออกให้แข่งขันยากขึ้น สินค้าในประเทศต้นทุนแพงขึ้น ท่ามกลางสินค้านำเข้าที่ถูกมากกว่า ถล่มสินค้าในประเทศหนักกว่าเดิม ปัญหาที่เคยคิดว่าจะได้รับการแก้ไข กลับทำให้สถานการณ์ทรุดหนักกว่าเดิม"

"ส.อ.ท." ห่วงค่าไฟขึ้นดันต้นทุนพุ่ง 10% เสียเปรียบคู่แข่ง-ทุบส่งออก

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า หากต้นทุนปรับขึ้นสูงกว่าเดิมจนผู้ประกอบการแบกรับไม่ไหว ท้ายสุดแล้วก็ต้องส่งผ่านไปกับการขึ้นราคาสินค้า

ทั้งนี้ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ระบุว่า ที่ประชุม กกพ. มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ก.ย - ธ.ค. 2567
 

และให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12 – 26 กรกฎาคม 2567 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป ดังนี้  

  • ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด) ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 222.71 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 98,495 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 163.39 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นจำนวน 188.41 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 - เมษายน 2567 ในช่วงสภาวะวิกฤตของราคาพลังงานที่ผ่านมา คืนทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2567 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้มีสถานะทางการเงินคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้น 44% จากระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน
  • กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 3 งวด ค่า Ft ขายปลีก เท่ากับ 113.78 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. กู้เงินมาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 – เมษายน 2567 ออกเป็น 3 งวดๆ ละจำนวน 32,832 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 54.46 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 79.48 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถดำเนินการตามแผนชำระคืนหนี้เงินกู้ที่วางไว้เพื่อรักษาระดับความน่าเชื่อถือ และลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 65,663 ล้านบาท ในขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 18% จากงวดปัจจุบัน
  • กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด ค่า Ft ขายปลีก เท่ากับ 86.55 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. กู้เงินมาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 – เมษายน 2567 ออกเป็น 6 งวดๆ ละจำนวน 16,416 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 27.23 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 52.25 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถดำเนินการตามแผนชำระคืนหนี้เงินกู้ที่วางไว้เพื่อรักษาระดับความน่าเชื่อถือ และลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 82,079 ล้านบาท ในขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 11% จากงวดปัจจุบัน